BM คาดรายได้ปีนี้ดีกว่าปีก่อน – อยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรญี่ปุ่นรุกตลาดเมียนมาร์

BM คาดรายได้ปีนี้ดีกว่าปีก่อน หลังตุน backlog ราว 400 ลบ. - เตรียมงบ 80 ลบ. ใช้ลงทุนโรงงานแห่งที่ 5 คาดเริ่มก่อสร้างต้นปีนี้, อยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรญี่ปุ่นรุกตลาดเมียนมาร์


BM คาดรายได้ปีนี้ดีกว่าปีก่อน หลังตุน backlog ราว 400 ลบ. – เตรียมงบ 80 ลบ. ใช้ลงทุนโรงงานแห่งที่ 5 คาดเริ่มก่อสร้างต้นปีนี้, อยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรญี่ปุ่นรุกตลาดเมียนมาร์

นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกชีทเม็ททัล จำกัด (มหาชน) หรือ BM เปิดเผยว่า บริษัทคาดรายได้ปี 60 น่าจะเติบโตจากปีก่อน เป็นไปตามการรับรู้งานในมือ (Backlog) ที่จะทยอยรับรู้รายได้เข้ามาตลอดทั้งปี โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือกลุ่มรับเหมาก่อสร้างอยู่ราว 300-400 ล้านบาท ได้แก่ งานโครงการไอคอนสยาม (ICONSIAM), งานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และยังได้รับออเดอร์จากกลุ่มลูกค้าธุรกิจ B2B เข้ามาเพิ่มขึ้น ขณะที่บริษัทมีแผนออกสินค้าใหม่ เช่น รถตัดอ้อย, เครื่องเกี่ยวข้าว เป็นต้น  น่าจะส่งผลทำให้รายได้ดังกล่าวน่าจะเติบโต

โดยในปีนี้บริษัทวางงบลงทุนไว้ราว 80 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้ลงทุนโรงงานแห่งที่ 5 ขนาด 4,000 ตารางเมตร คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงต้นปีนี้ และน่าจะใช้เงินลงทุนจำนวน 50 ล้านบาท, ใช้ลงทุนเครื่องพ่นสี เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตร ราว 20 ล้านบาท และซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อทดแทนเครื่องจักรเดิม อีกราว 10 ล้านบาท โดยแหล่งเงินลงทุนจะมาจากเงิน IPO ที่ยังคงเหลืออยู่มากพอสมควร

สำหรับความคืบหน้าของการตกลงทำธุรกิจร่วมกับพันธมิตรจากญี่ปุ่นหลังจากแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไปแล้วเมื่อช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น นายธีรวัต เปิดเผยว่า จะเดินทางไปญี่ปุ่นช่วงต้นเดือน ก.พ.นี้เพื่อเยี่ยมชมกิจการของพันธมิตร หลังจากนั้นคาดว่าจะมีการกำหนดวันลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการขยายธุรกิจตู้สื่อสาร ตู้เหล็ก ตู้สวิทซ์บอร์ด งานโครงสร้าง และงานเชื่อมโลหะ ซึ่งจะมุ่งเน้นขยายตลาดในประเทศไทย และกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

ทั้งนี้ พันธมิตรญี่ปุ่นรายดังกล่าวดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับ BM และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น มีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) เป็นอันดับ 3 ของตลาดญั่ปุ่น ก่อนหน้านี้ได้เดินทางมาเยี่ยมชมกิจการของ BM แล้วหลายครั้ง จนนำมาซึ่งการตกลงทางธุรกิจ ซึ่งในเบื่องต้นทางพันธมิตรญี่ปุ่นรายดังกล่าวมีจุดประสงค์ต้องการเข้าถือหุ้นของบริษัทฯ ขั้นต่ำ 10% และน่าจะเข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมส่วนหนึ่งก่อน

“เราก็มีการคุยกันไว้แล้วของการเข้ามาร่วมธุรกิจของพันธมิตรญี่ปุ่น ซึ่งในเบื้องต้นเขาก็อยากจะเข้ามาถือในสัดส่วนขั้นต่ำ 10% และหลังจากนั้นก็อาจจะมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมา รวมถึงจะมีการบุกตลาดในต่างประเทศด้วย”นายธีรวัต กล่าว

ส่วนแผนการรุกตลาดเมียนมาร์นั้น BM ไปสร้างโรงงานเพื่อผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศเมียนมาร์ ขณะนี้ได้จัดตั้งทีมงานเพื่อเจรจากับคู่ค้าทางธุรกิจ และปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรญี่ปุ่นถึงข้อกฎหมายในการร่วมกันจัดตั้งโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรมของเมียนมาร์ แต่ยังไม่สามารถสรุป ซึ่งหากจบได้ในปีนี้บริษัทก็คาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างโรงงานได้ในปี 61 และใช้เวลาก่อสร้างราว 6 เดือน ก่อนจะเริ่มผลิตได้ตามแผน ปัจจุบันบริษัทฯมีการส่งออกสินค้าให้กับลูกค้าในเมียนมาร์บ้างแล้ว แต่สัดส่วนรายได้ยังไม่ถึง 5%

 

Back to top button