FSS พุ่งกว่า 14% หลังเซ็นข้อตกลงกับ Kiwoom จากเกาหลีใต้
FSS พุ่งกว่า 14% หลังเซ็นข้อตกลงกับ Kiwoom จากเกาหลีใต้ ร่วมพัฒนาระบบซื้อขายหุ้นผ่านออนไลน์ ล่าสุด ณ เวลา 15.06 น. ราคาอยู่ที่ 3.54 บาท บวก 0.44 บาท หรือ 14.19% สูงสุดที่ 3.84 บาท ต่ำสุดที่ 3.10 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 151.45 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSS ณ เวลา 15.06 น. ราคาอยู่ที่ 3.54 บาท บวก 0.44 บาท หรือ 14.19% สูงสุดที่ 3.84 บาท ต่ำสุดที่ 3.10 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 151.45 ล้านบาท
บล.ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) ลงนามข้อตกลงร่วมพัฒนาระบบซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ กับ บริษัทหลักทรัพย์ Kiwoom จำกัด (Kiwoom) โดยในข้อตกลงดังกล่าว FSS จะได้รับระบบซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นและล้ำสมัยที่สุดในเกาหลีใต้ มาต่อยอดพัฒนาการซื้อขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (Home Trading System-HTS) และบนโทรศัพท์มือถือ (Mobile Trading System-MTS)
นอกจากนี้ บริษัทยังจะได้รับความร่วมมือในการนำแอปพลิเคชั่นต่างๆ เข้ามาเสริมประสิทธิภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์อย่างต่อเนื่องจากบริษัทหลักทรัพย์ Kiwoomซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 11 ปี ในประเทศเกาหลีใต้
สัญญาความร่วมมือนี้มีระยะเวลารวม 15 ปี ภายใต้ข้อตกลงนี้ Kiwoom จะร่วมปรับแต่งระบบซื้อขายหลักทรัพย์เดิมของ Kiwoomที่ได้รับการพัฒนาและนำออกใช้เมื่อเดือน ก.ค.57 ได้แก่ ระบบ HTS”HERO4″ บนคอมพิวเตอร์ และ MTS”HEROS”บนโทรศัพท์มือถือ ที่ได้การตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งในด้านความสะดวกในการใช้งาน และการเข้าถึงข้อมูล ผ่านทางฟังก์ชันพิเศษต่างๆด้วยความเชี่ยวชาญและความเหนือชั้นในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจการให้บริการด้านการเงิน ส่งผลให้ Kiwoomได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ชั้นนำของประเทศ
สืบเนื่องจากธุรกิจตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นจากจำนวนบริษัทที่เข้าจดทะเบียนและมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มนักลงทุนรายย่อย (คิดเป็น 56.34% จากมูลค่าการซื้อขายในปี 58) ซึ่งมีอัตราการซื้อขายเฉลี่ย รายวันสูงกว่านักลงทุนกลุ่มอื่นทำให้บริษัทหลักทรัพย์ Kiwoom ตัดสินใจร่วมพัฒนาระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์กับบริษัทซึ่งมีฐานลูกค้าหลักเป็นนักลงทุนรายย่อย และครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับสาม ในปี 58 และปี 59
จากการรวมพลังของสองบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำของประเทศเกาหลีใต้และประเทศไทย คาดว่าความสัมพันธภาพทางธุรกิจนี้จะสร้างความสำเร็จครั้งสำคัญโดย Kiwoomคาดว่าจะสามารถสร้างกระแส Hallyu (คลื่นความนิยม) ในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศบนธุรกิจการให้บริการด้านการเงินในประเทศไทยในแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นแล้วในเกาหลีใต้บนระบบ การซื้อขายแบบ HTS และ MTS
ทั้งนี้ Kiwoom ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในประเทศไทยผ่านกระบวนการ ISP (Information Strategy Planning) เพื่อใช้ในการปรับแต่งระบบให้เหมาะสมกับการใช้งานประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะได้รับผลสำเร็จจากการปรับระบบ (Customization) ในไม่ช้า