“บิ๊กฉัตร” แบไต๋ “วินด์ฟาร์ม” เดินเครื่องตามแผนหากช่วยเกษตรกรจริง
“บิ๊กฉัตร” แบไต๋ “วินด์ฟาร์ม” เดินเครื่องตามแผนหากช่วยเกษตรกรจริง
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กรณีกิจการกังหันลมผลิตไฟฟ้าในเขตปฏิรูปที่ดินว่า การประชุมครั้งนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพลังงานหารือร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันว่า
ปัจจุบันมีกี่บริษัทเอกชนที่เช่าพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ( ส.ป.ก.) ดำเนินการเกี่ยวกับการผลิตกระแสไฟฟ้าจากกังหันลม หรือ วินด์ฟาร์ม ซึ่งปัจจุบันได้ข้อยุติแล้วว่ามีทั้งหมด 15 บริษัท แบ่งเป็น ดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟแล้ว 5 บริษัท อีก 10 บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง
ขณะนี้ได้สั่งการให้ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เร่งดำเนินการสำรวจข้อเท็จจริงว่าทั้ง 15 บริษัทได้ดำเนินการตามสัญญาหรือไม่ ในระยะเวลา 45 วัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความถูกต้องเป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมาย ก็ต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งอย่างละเอียดทั้ง 15 บริษัท
โดยแบ่งการตรวจสอบเป็น 2 ส่วน คือ 1. รายละเอียดในสัญญาของทั้ง 15 บริษัท และหลักฐานที่แต่ละบริษัทสามารถแสดงได้ว่าได้ดำเนินการที่เกษตรกรได้รับประโยชน์จริงตามสัญญา และ 2. การตรวจสอบข้อมูลจากเกษตรกรในพื้นที่ว่าได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจริงหรือไม่อย่างไร โดยยึดเอาบรรทัดฐานจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกเลิกโครงการกังหันลม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม เนื่องจากชี้ชัดว่าเกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากกิจกรรมของบริษัท
“ได้สั่งการให้ทาง เลขาธิการ ส.ป.ก. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด ว่าเป็นไปตามกฎหมายและข้อสัญญาหรือไม่ โดยกำหนดระยะเวลาตรวจสอบ 45 วัน นับจากวันนี้เป็นต้นไป โดย ส.ป.ก.ต้องดำเนินการตรวจสอบในรายละเอียดแต่ละเรื่องทั้ง 15 บริษัท ซึ่งต้องเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่จริงในแต่ละจังหวัด รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ด้วย ว่ามีการดำเนินการตามเงื่อนไขอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งหากทั้ง 15 บริษัท ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างครบถ้วนก็จะสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่หากปฏิบัติไม่ถูกต้องตามสัญญาก็จะต้องดำเนินการตามระเบียบราชการต่อไป” พล.อ. ฉัตรชัย กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้หารือกับรมว.พลังงาน ว่า กรณีบริษัทใดไม่ปฏิบัติตามที่ได้ตกลงไว้ ทางกระทรวงพลังงานจะเตรียมการหาพลังงานทดแทนต่อไป ซึ่งทั้งสองกระทรวงจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยหลังจากได้ผลการตรวจสอบ ครบ 45 วัน กระทรวงเกษตรฯ ก็จะรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรว่าบริษัทใดทำอย่างถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไร เพื่อจะได้เตรียมการในส่วนเกี่ยวข้องต่อไป
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กรอบระยะเวลา 45 วันที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนดไว้ ทางกระทรวงพลังงานก็เห็นด้วยว่าเหมาะสม เนื่องจากหลายบริษัทมีห้วงสัญญาว่าต้องจ่ายไฟเมื่อไหร่อย่างไร ซึ่งระหว่างการตรวจสอบระยะเวลาของสัญญาก็เดินไป จึงคาดว่าระยะเวลา 45 วัน เพื่อตรวจสอบทั้งข้อมูลที่ได้จากบริษัท และภาคสนามที่จะไปสอบถามเกษตรกร ดูจากข้อมูลจริงในพื้นที่ว่าให้ประโยชน์กับเกษตรกรโดยตรง เช่น มีการจัดตั้งกองทุนฯ การสนับสนุนปัจจัยการผลิต ที่หรือทางอ้อม เช่น มีการสร้างถนน เกิดเส้นทางที่สามารถขนส่งสินค้าเกษตรได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ทางอ้อม ทั้งหมดก็ต้องเอามาพิจารณากัน โดยระหว่างการตรวจสอบทั้ง 5 บริษัทที่ดำเนินการอยู่ก็ดำเนินการต่อไปได้ตามปกติจนกว่าจะได้ข้อสรุปจากผลการตรวจสอบอีกครั้ง
ด้านนายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลทั้ง 15 บริษัท พบว่ามีความแตกต่างจากบริษัทที่ถูกฟ้อง โดยบริษัทที่ถูกฟ้องไม่ได้ดำเนินการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร แต่อีก 15 บริษัท ได้มีการดำเนินการที่ให้ประโยชน์กับเกษตรกร
อย่างไรก็ตาม จาก 7 วันที่ผ่านมา เป็นการตรวจสอบข้อมูลทางเอกสารในเบื้องต้น ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะลงพื้นที่จริงในจังหวัดนครราชสีมา และชัยภูมิ เพื่อตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดให้ครบทุกมิติอีกครั้ง รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลจาก ส.ป.ก.จังหวัดชัยภูมิ และนครราชสีมา เกี่ยวกับการดำเนินงานของแต่ละบริษัทว่าเป็นไปตามเงื่อนไขอย่างถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการดำเนินการต่อไป