12 หุ้นร้อน! รับผลดีนโยบาย “ทรัมป์”
เปิดชื่อ 12 หุ้นร้อน! รับผลดีนโยบาย "โดนัลด์ ทรัมป์" หลังแถลงต่อสภาคองเกรสวันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (1 มี.ค.) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสสหรัฐถึงนโยบายต่างๆ ที่จะดำเนินการในระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ อาทิ การปรับลดภาษีนิติบุคคล การเปลี่ยนแปลงกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง และการค้าระหว่างประเทศ
โดย บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า นโยบายปรับลดภาษีและการแก้ไขสัญญาการค้าระหว่างประเทศเพื่อเน้นให้เกิดการจ้างงานและการบริโภคในประเทศมากขึ้นจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ เนื่องจากการปรับลดภาษีจะทำให้การลงทุนในต่างประเทศโดยบริษัทสหรัฐฯ ลดลง ผสานกับการยกเลิกการค้าระหว่างประเทศทำให้ประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากมีการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับกลุ่ม รวมถึงภาระหนี้ของภาคเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
ทั้งนี้ยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้นไทยในเชิงพื้นฐาน และให้น้ำหนักตลาดแกว่งขึ้นในไตรมาส 2/60 ที่กรอบประเมินแนวต้าน 1,620/1,650 จุด แนวรับ 1,545/1,530 จุด จากแรงหนุนผลบวกของนโยบายทรัมป์ ที่จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังปี 60 ถึงครึ่งปีแรกปี 61 และภาพการลงทุนภายในประเทศที่มีสัญญานบวกทั้งภาครัฐและเอกชนปลายไตรมาส 2/60 ทั้งนี้ยังคงวางดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 60 ที่ระดับเดิมคือ 1,654 จุด P/E ที่ 15.75 เท่า
โดยกลุ่มที่ได้รับผลเชิงบวกต่อนโยบานประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แก่ 1.) กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิส์ คือ บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA และบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมทั้ง บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA และบริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI จากมาตรการลงทุน infrastructure และ cyber securities เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการอุปกรณ์ด้าน telecom และ network มากขึ้น
2.) กลุ่มพลังงาน รัฐบาลของทรัมป์มีแนวโน้มที่จะลดการสนับสนุนพลังงานทดแทนเชิงอ้อม ส่งผลบวกต่อแนวโน้มการใช้พลังงานที่มาจาก Fossil และทำให้ผู้ผลิต Shale oil/gas ในสหรัฐฯมีความคล่องตัวในการผลิตมากขึ้น
3.) กลุ่ม Soft Commodity คือ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA, บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL, บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR และบริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TVO จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคหนุน farm income จะทำให้ราคา soft commodity เพิ่มขึ้น
4.) กลุ่มท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย หากสหรัฐมีมาตรการด้านคนเข้าเมืองที่เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเปลี่ยนจุดหมายปลายทาง
5.) กลุ่มที่มีบริษัทย่อยในสหรัฐ คือ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF และบริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ CFRESH คาดส่งผลบวกต่อกิจการในประเทศสหรัฐฯ โดยต้นทุนภาษีเงินได้เฉลี่ยจะปรับตัวลดลง
ขณะเดียวกันกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบต่อนโยบานประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แก่ 1.) กลุ่มอาหาร กระทบผู้ส่งออกจากมาตรการกีดกันการค้าจะเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมส่งออกอาหารของไทย ซึ่งธุรกิจกุ้งน่าจะได้รับการกีดกันทางการค้ามากกว่าผู้ส่งออกทูน่า
2.) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม คือ ยานยนต์ และนิคมอุตสาหกรรม โดยการส่งออกรถยนต์อาจกระกระทบจากนโยบายที่ต้องการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ในประเทศสหรัฐฯเอง แต่อย่างไรก็ตามจะส่งผลกระทบไม่มากเนื่องจากยอดส่งออกรถยนต์ไป Central & South America เท่ากับ 1.05 แสนคัน หรือเพียง 9% ของยอดส่งออกรวมที่ 1.16 ล้านคันในปี 59 และประเด็นนี้อาจกดดันการขยายกำลังการผลิตในไทยชะลอลง กดดันกลุ่มนิคมฯ อีกทางหนึ่ง