คนพญาไทแห่ค้าน! บ้านประชารัฐพหลโยธิน 11
คนพญาไทแห่ค้าน! บ้านประชารัฐพหลโยธิน 11 ชี้ตัดสินใจพลาด หวั่นกระทบชุมชน-เอื้อกลุ่มผลประโยชน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา จากกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติผ่านมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์โครงการบ้านประชารัฐ โดยจะสร้างบ้านประชารัฐในลักษณะคอนโดมิเนียม 8 ชั้น ในซอยพหลโยธิน 11 นั้น กลุ่มอนุรักษ์พญาไท ชาวซอยพหลโยธิน 5, 7, 9, 11 และบริเวณข้างเคียงรวมตัวกันเพื่อขอให้พิจารณาทบทวนโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐซอยพหลโยธิน 11 ซึ่งมีกรอบดำเนินการโครงการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 59 โดยทางชุมชนเสนอปัญหาความเดือดร้อน เนื่องจากการก่อสร้างโครงการดังกล่าว
ระบุใจความว่า เรื่องความเหมาะสมของพื้นที่ ทั้งเรื่องความเเออัดเเละมลภาวะ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นซอยที่เเคบเเละเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการสำคัญ ตลอดจนสถานประกอบธุรกิจจำนวนมาก หากโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐซอยพหลโยธิน 11 เกิดขึ้นจะมีประชาชนกว่าพันคนมาอาศัยเพิ่ม จะเกิดความเเออัดจากจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น เเละมีปัญหาเรื่องที่จอดรถ ไม่อาจเลี่ยงภาวะรถติดในซอยเเละปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ ยังมีเรื่องของความคุ้มค่าของโครงการในเเง่เศรษฐกิจ เเละยังพบว่าโครงการนี้ไม่มีการศึกษา EIA (Environmental Impact assessment) การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบ เเต่ได้เปิดรับจองสิทธิห้องชุดเเล้วเมื่อเดือน ส.ค.59 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้เวลา 09.30 น. วันที่ 4 มี.ค. ที่สำนักงานเขตพญาไท กลุ่มอนุรักษ์พญาไทเเละกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะเข้าพบ ผอ.เขตพญาไท ผอ.ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ เพื่อยื่นหนังสือขอให้ทบทวนการก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐซอยพหลโยธิน 11 เเละตรวจสอบว่าโครงการนี้ประชาชนได้ประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์กลุ่มผลประโยชน์อื่นใดหรือไม่
โครงการบ้านประชารัฐซอยพหลโยธิน 11
ขณะที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าวว่า การสร้างบ้านประชารัฐที่ซอยพหลโยธิน 11 เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของทางราชการโดยตรง
1.บ้านประชารัฐบนถนนซอยพหลโยธิน 11 นั้นจะสร้างอยู่บนเนื้อที่ดิน 2 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา (ตร.ว.) (948 ตร.ว.) โดยจะสร้างเป็นอาคารสูง 8 ชั้น 2 อาคาร 432 หน่วย พื้นที่ใช้สอย 25 ตารางเมตร (ตร.ม.) ค่าเช่า 4,000 บาท/เดือน การลงทุนนี้คงใช้เงินเป็นจำนวนมาก กล่าวคือ สมมุติให้ค่าที่ดินเป็นเงิน ตร.ว.ละ 300,000 บาท ก็เป็นเงิน 284.4 ล้านบาท ค่าก่อสร้างอาคาร 432 หน่วย หน่วยละ 25 ต.ร.ม. เมื่อรวมพื้นที่ส่วนกลางก็เป็นพื้นที่รวม 15,000 ตร.ม. เท่ากับ ตร.ม.ละ 17,000 บาท รวมเป็นเงินอีก 255 ล้านบาท รวมแล้วเป็นเงินสูงถึง 539.4 ล้านบาท
2.เงินลงทุน 539.4 ล้านบาทนี้ หากนำมาให้เช่า ควรเช่าได้ผลตอบแทนปีละ 8% (รวมค่าใช้จ่าย) หรือเดือนละ 8,300 บาท/หน่วย แต่กลับจะให้เช่าเพียง 4,000 บาท เท่ากับขาดทุน
3.บริเวณแถวนั้นยังมีห้องเช่า-ห้องชุดให้เช่าราคาถูกกว่า 4,000 บาท ตามซอยต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก และใช่ว่าจะเต็ม ยังมีเหลืออยู่ การสร้างบ้านประชารัฐในลักษณะนี้จึงเป็นการทำลายธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะ และเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะมีอุปทานห้องเช่าในบริเวณใกล้เคียงนับพันๆ หน่วยอยู่แล้ว
4.หากนำที่ดินแปลงนี้มาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้สูง หรือปานกลางค่อนข้างสูงซึ่งเหมาะสมสำหรับพื้นที่นี้ก็จะไม่ทำให้สภาพแวดล้อมบริเวณนี้ทรุดโทรมลง และทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่ที่ดิน นำเงินจากการให้เช่าที่ดินเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยคุณภาพมาใช้พัฒนาประเทศ ช่วยเหลือผู้ยากไร้ในทางอื่นได้
5.การที่ไม่ควรพัฒนาที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยในย่านนี้นั้น เพราะมีที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยจัดหากันเองโดยภาคเอกชนอยู่แล้ว และไม่ได้มีราคาแพงเกินกว่าที่ผู้มีรายได้น้อยจะหาซื้อได้
6.ยิ่งกว่านั้นยังเกรงว่าการสร้างที่อยู่อาศัยประเภทนี้ จะกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลอื่น เช่น ข้าราชการที่มีสวัสดิการดีอยู่แล้ว มีบ้านอยู่แล้ว ไม่ได้ยากจน แต่อาศัยความเป็นข้าราชการมาอยู่ มาแย่งผู้มีรายได้น้อยจริง และบางส่วนอาจมาเช่าเพื่อปล่อยเช่าทำกำไรส่วนตัว เพราะจะสามารถได้กำไรจากการให้เช่าได้นับเท่าตัวทีเดียว หากมีการสร้างตามที่วางแผนไว้
รัฐบาลจึงควรทบทวนการสร้างบ้านประชารัฐในกรณีพื้นที่พหลโยธิน 11
ที่มา : มติชนออนไลน์