ASIMAR เปิดแผนปี 60 รุกขยายธุรกิจโครงสร้างเหล็กรับลงทุนรัฐ-เอกชน

ASIMAR เปิดแผนปี 60 รุกขยายธุรกิจโครงสร้างเหล็กรับลงทุนรัฐ-เอกชน


นางวรวรรณ งานทวี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASIMAR เปิดเผยว่าแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ประมาณ 750 ล้านบาท ปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) ประมาณ 260 ล้านบาท โดยบริษัทกำลังสรุปราคาเพื่อเสนองานต่อเรือใหม่จากลูกค้าภาคเอกชนมูลค่าประมาณ 240 ล้านบาท และเตรียมเข้าประมูลงานต่อเรือจากหน่วยงานราชการอีก 2 โครงการ

นอกจากนี้ บริษัทจะขยายธุรกิจด้านงานโครงสร้างเหล็ก เนื่องจากมองว่าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสสร้างรายได้ จากงานโครงสร้างพื้นฐานโครงการขนาดใหญ่ทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยบริษัทมีผลงานโครงสร้างเหล็กที่ผ่านมา เช่น งานโครงสร้างเหล็กที่สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น

ทั้งนี้ โครงสร้างรายได้ของ ASIMAR ในปีนี้ รายได้หลักยังมาจากการซ่อมเรือ ประมาณ 55-60% ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดไม่ต่ำกว่า  30% และรายได้จากการต่อเรือ 35-40% ส่วนรายได้งานโครงสร้างเหล็กปัจจุบันอยู่ระหว่างสรุปราคาเพื่อเสนองานมูลค่าประมาณ 25-50 ล้านบาท

นางวรวรรณ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจหลักงานต่อเรือและซ่อมเรือที่ดำเนินมา 37 ปี มีฐานลูกค้าหลักซ่อมเรือทั้งบริษัทเอกชนและราชการให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่งานต่อเรือเอกชนส่วนใหญ่เป็นเรือเพื่อการพาณิชย์ เช่น เรือขนส่งน้ำมัน เรือบรรทุกสินค้าแบบเทกอง และการต่อเรือลูกค้าต่างประเทศที่เป็นเรือที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง เช่น เรือวางสายเคเบิลใต้น้ำ

แม้ว่าในปี 59 ผลประกอบการของบริษัทไม่ได้เติบโตมากนัก แต่สามารถสร้างกำไรได้ต่อเนื่อง สาเหตุจากเศรษฐกิจโลกซบเซาทำให้ลูกค้าชะลอการต่อเรือและซ่อมเรือ แต่แนวโน้มในปี 60 มีสัญญาณดีขึ้น ขณะที่จุดเด่นสำคัญของ ASIMAR คือ สามารถต่อเรือได้ยาวถึง 125 เมตร และจากการขยายกำลังการผลิต เพิ่มสาขาที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้บริษัทมีขีดความสามารถในการรับเรือเข้าซ่อม เฉลี่ย 80-100 ลำต่อปี

“ยอมรับว่าผลงานปี 59 ที่ผ่านมาของ ASIMAR เติบโตไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้  แต่เราหวังว่าในระยะ 1-2 ปีจากนี้ ASIMAR จะกลับมาเทิร์นอะราวน์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ปัจจัยหลักๆ มาจากอู่ต่อเรือแห่งใหม่ใน จ.สุราษฎร์ธานี ที่เริ่มเปิดดำเนินการในเดือนสิงหาคม 59 ที่ผ่านมา และล่าสุดขณะนี้คืบหน้าแล้วกว่า 90% โดยจะเปิดอย่างเป็นทางการในราวเดือนพฤษภาคม 60 จะช่วยสนับสนุนการรับงานต่อเรือ ซ่อมเรือ ได้เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ทางภาคใต้  ซึ่งอุตสาหกรรมต่อเรือปีนี้ เริ่มฟื้นตัวแต่ไม่หวือหวามองว่าจะฟื้นตัวจริงๆ ในอีก 2 ปีข้างหน้า”นางวรวรรณ กล่าว

ส่วนผลประกอบการของบริษัทและบริษัทย่อยในงวดปี 59 มีกำไรสุทธิ 48.37 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 46.36 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 90.18 ล้านบาท  โดยมีรายได้รวม 614.59 ล้านบาท ลดลง 151.80 ล้านบาท หรือลดลง 19.81% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 766.39 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายได้จากการรับจ้างลดลง 157.62 ล้านบาท หรือคิดเป็นลดลง 20.82% รายได้จากงานซ่อมเรือลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 10.06%  จากแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ทำให้เจ้าของเรือมีงบประมาณในการซ่อมทำจำกัด และเกิดการแข่งขันสูงขึ้นระหว่างอู่เรือ รวมถึงรายได้กลุ่มลูกค้าเรือ Offshore ที่ลดลง ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ มีการจอดพักเรือ (Lay-up) เพื่อรอการรับรู้รายได้

 

Back to top button