ปูดอีกข้อหา! ศิษย์เอกธรรมกาย “ทัตตชีโว” นำเงินวัดไปเล่นหุ้น
ปูดอีก! ศิษย์เอกวัดธรรมกาย "ทัตตชีโว" นำเงินวัดไปเล่นหุ้น หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ-อัยการพบหลักฐานใหม่ที่เกี่ยวกับการฟอกเงินและการปั่นหุ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ปกรณ์ สุชีวกุล ผบ.สำนักคดีการเงินและธนาคาร ประชุมร่วมกับ นายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ อัยการพิเศษสำนักการสอบสวน และคณะทำงาน ในคดีพิเศษที่เกี่ยวพันกับการฟอกเงินของวัดพระธรรมกาย โดยนาย ขจรศักดิ์ เปิดเผยว่า ในที่ประชุมร่วมระหว่างดีเอสไอ และอัยการเพื่อวางแนวทางการสอบสวนคดีฟอกเงินที่นำเงินวัดไปซื้อหุ้นอย่างต่อเนื่อง และคดีเกี่ยวกับทรัพย์มูลนิธิวัดพระธรรมกาย ตามที่ก่อนหน้านี้พบหลักฐานจากการตรวจสอบธุรกรรมการเงินของวัดพระธรรมกาย
โดยมีความชัดเจนว่า พระทัตตชีโว นำเงินออกจากบัญชีของวัดไปซื้อหุ้น ซึ่งพระทัตตชีโวมีตำแหน่งเป็นรองเจ้าอาวาสและรักษาการเจ้าอาวาส จึงถือเป็นตำแหน่งเจ้าพนักงาน เข้าข่ายมีความผิดมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสอบสวน
สำหรับการประชุมในวันนี้ได้จัดกลุ่มคดี 15 สำนวน กระจายความรับผิดชอบให้ชุดสอบสวนรับไปดำเนินการ เช่น มูลนิธิ กลุ่มบุคคล บุคคล ที่นำเงินไปซื้อที่ดินแล้วไม่ได้ยกให้เป็นที่ดินของวัด หรือธรณีสงฆ์
อย่างไรก็ตาม พระทัตตชีโว ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในการสอบสวนการฟอกเงินในส่วนของ น.ส.อลิสา อัศวโภคิน และ นายอนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของธุรกิจบ้านจัดสรรแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่ซื้อที่ดินต่อจาก นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยคดีดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบสำนักคดีอื่น และกำลังตรวจสอบเส้นทางการเงิน
ทั้งนี้หากพิจารณาจากการหารือร่วมกันระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษกับอัยการเห็นได้ชัดเจนว่าพบหลักฐานใหม่ที่เกี่ยวกับการฟอกเงินและการปั่นหุ้น โดยบุคคลที่น่าสงสัยที่สุดก็คือ ทัตตชีโว และบรรดาสาวกระดับ “มหาเศรษฐี” ที่ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงเซียนหุ้นระดับตำนาน
สำหรับประเด็นสำคัญคือ การตรวจสอบเส้นทางการเงิน การซื้อขายที่ดิน การตรวจสอบมูลนิธิที่อาจเข้าข่ายเป็นแหล่งฟอกเงินนำเงินบริจาคไปใช้อีกทางหนึ่ง เช่น เมื่อซื้อที่ดินแล้วไม่ได้โอนเป็นทรัพย์สินของวัด หรือ ธรณีสงฆ์ เป็นต้น เพราะจากการตรวจสอบพบว่าในเนื้อที่ที่ระบุว่าเป็นของวัดพระธรรมกายกว่าสองพันไร่ เอาเข้าจริงมีจำนวนเนื้อที่วัดเพียงแค่ร้อยกว่าไร่เท่านั้น ที่เหลือเป็นทรัพย์สินของมูลนิธิ เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลแทบทั้งหมด
โดยจากการเปิดเผยของพนักงานอัยการ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หลังการประชุมร่วมกัน ระบุว่า มีการตั้งทีมพิจารณา 15 สำนวน ความหมายก็น่าจะเข้าใจได้ว่าน่าจะมี 15 คดี ที่ต้องดำเนินการ แต่ที่น่าจับตาก็คือคำพูดที่ระบุว่าคดีซื้อขายที่ดินของอาคาร “บุญรักษา” ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ไม่ได้อยู่ใน 15 สำนวนดังกล่าว แต่อยู่ในความรับผิดชอบของคดีอื่นสำนวนหนึ่ง และกำลังตรวจสอบเส้นทางการเงินอยู่