SCN ลุยสร้างสถานี NGV ตามแนวท่อก๊าซฯ 2 แห่ง มูลค่ารวม 225 ลบ.

SCN ลุยสร้างสถานี NGV ตามแนวท่อก๊าซฯ 2 แห่ง มูลค่ารวม 225 ลบ. พร้อมทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับปตท. ใหม่ 2 สัญญา นาน 10 ปี


บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารวานนี้ (23 มี.ค.) อนุมัติให้บริษัท สยามวาสโก จำกัด หรือ SVC และ บริษัท บี.พี.เอ.อินเตอร์เทรด จำกัด หรือ BPA ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแนวท่อส่งก๊าซฯกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT จำนวน 2 สัญญา

เพื่อตั้งสถานีบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) 2 สถานี โดยสถานีแรก ตั้งอยู่บริเวณริมทางหลวงหมายเลข 32 ขาเข้า กม.145 ต.ท่าฉนวน อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท และอีกสถานี ตั้งอยู่บริเวณทางหลวงหมายเลข 7 ขาออก ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

โดย SVC ลงทุนที่ดินและก่อสร้างสถานี NGV จำนวน 100 ล้านบาท  และ BPA ลงทุนที่ดินและก่อสร้างสถานี NGV จำนวน 125 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าจำนวนเงินลงทุนรวม 225 ล้านบาท โดยสัญญาซื้อขายก๊าซฯตามแนวท่อก๊าซฯ ของแต่ละสัญญา มีอายุ 10 ปี

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อเดือนธ.ค.59 อนุมัติเงินลงทุนสำหรับการขยายธุรกิจสถานีบริการ NGV ในวงเงินรวม 1.35 พันล้านบาท

โดยการเข้าทำสัญญาครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มจำนวนสถานีบริการ NGV ของกลุ่มบริษัทอีก 2 สถานี รวมเป็น 9 สถานี หรือรวมเป็น 12 สถานี หากนับรวมสถานี NGV ที่บริษัทมีส่วนร่วมกับบริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SUSCO

ขณะที่ 2 สถานีใหม่ดังกล่าวจะเป็นสถานี NGV ตามแนวท่อก๊าซฯ ซึ่งสามารถต่อยอดธุรกิจไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ เช่น ธุรกิจสถานีบริการก๊าซธรรมชาติหลักโดยเอกชน ธุรกิจขนส่ง NGV เป็นต้น ตลอดจนเพิ่มกำลังการผลิตรวม 2 สถานี ประมาณ 1 แสนกิโลกรัม/วัน

ซึ่งมาจากสถานีในจ.ชัยนาท 4 หมื่นกิโลกรัม/วัน และสถานีในจ.ชลบุรี 6 หมื่นกิโลกรัม/วัน รวมถึงยังช่วยบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างผลตอบแทนรวมทั้งการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างมั่นคงด้วย

สำหรับแหล่งเงินลงทุนจะมาจากเงินทุนหมุนเวียนภายในของบริษัทประมาณ 45 ล้านบาท และเงินกู้จากสถาบันการเงิน จำนวนประมาณ 180 ล้านบาท

นอกจากนี้คณะกรรมการบริหาร ยังอนุมัติให้บริษัทย่อยเข้าทำสัญญาซื้อขาย NGV กับ PTT จำนวน 2 สัญญา โดยเป็นการขอทำสัญญาซื้อขายธรรมชาติ ตามเงื่อนไขโครงสร้างราคาแบบใหม่ ตามค่าความร้อนคิดเป็นบาท/ล้านบีทียู จากสัญญาเดิมเป็นการซื้อขายที่คิดเป็นบาท/กิโลกรัม (กก.) เป็นไปตามที่ภาครัฐกำหนด ซึ่งจากโครงสร้างราคาใหม่นี้คาดว่าจะทำให้บริษัทได้รับผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัท บี.พี.เอ. อินเตอร์เทรด จำกัด โดยการเข้าทำสัญญาในครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขโครงสร้างราคาเท่านั้น โดยมูลค่าการลงทุนก่อสร้างไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบริษัทได้เข้าซื้อหุ้นเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.58 ที่มูลค่า 12 ล้านบาท และลงทุนก่อสร้างสถานีอีกประมาณ 80 ล้านบาท รวมมูลค่าการเข้าทำรายการรวม 92 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท เอมมี่ เอ็นจีวี จำกัด โดยการเข้าทำสัญญาในครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขโครงสร้างราคาเท่านั้น ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนก่อสร้างไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบริษัทได้เข้าซื้อหุ้นตั้งแต่ปี 59 ที่มูลค่า 43 ล้านบาท และลงทุนก่อสร้างสถานีอีกประมาณ 54.74 ล้านบาท รวมมูลค่าการเข้าทำรายการทั้งสิ้น 97.74 ล้านบาท

Back to top button