4 โบรกฯ เชียร์ซื้อ BBL ให้เป้าสูงสุด 233 บ. หลังมองกำไรทั้งปีโตกว่า 10%

เหล่าโบรกเกอร์ได้ออกบทวิเคราะห์แนะนำซื้อหุ้น BBL หลังมองว่าทั้งกำไรใน Q1/58 และกำไรทั้งปีจะสามารถเติบโตขึ้นได้ และราคาเป้าหมายสูงสุดที่โบรกฯ ให้ BBL คือ 233 บาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ณ เวลา 12.06 น. ราคาอยู่ที่ 187 บาท บวก 1 บาท หรือ 0.54% สูงสุดที่ 187.50 บาท ต่ำสุดที่ 186 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 255.33 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยโดยรวมลบ 0.01%

 

บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ (8 เม.ย.) ให้ราคาเป้าหมาย BBL ที่ 232 บาท โดยสินเชื่ออาจหดตัว 1% จากไตรมาสก่อนในไตรมาส 1/58 แต่จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ซึ่งคาดธนาคารจะตั้งสำรองหนี้สูญฯไตรมาส 1/58 ที่ 2.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน และ 134% จากไตรมาสก่อน ทั้งนี้ BBL คาดจะตั้งเป้าอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ไตรมาสแรกที่ 42-44% โดยมองว่าธนาคารจะรายงานกำไรไตรมาส 1/58 ที่ 9.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% จากไตรมาสก่อน และ 7.1% จากปีก่อน

 

บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ (8 เม.ย.) ว่า ฝ่ายวิจัยคาด BBL จะมีกำไรสุทธิงวด ไตรมาส 1/58 เท่ากับ 8.97 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.8% จากไตรมาสก่อน (แต่ยังค่อนข้างทรงตัวจากงวดเดียวกันของปีก่อน) โดยมีปัจจัยหนุนจากคาดการณ์การลดลงของค่าใช้จ่ายดำเนินงานภายหลังจากพ้นช่วงฤดูกาลไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังเห็นปัจจัยบวกจากคาดการณ์รายได้ค่าธรรมเนียมฯ ที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นค่าธรรมเนียมฯ จากการขายกองทุน และคาดการณ์การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอื่นๆ โดยเฉพาะกำไรจากการขายเงินลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ที่สูงเกือบ 1 พันล้านบาท เทียบกับค่าเฉลี่ยปกติที่ราว 500 ล้านบาท/ไตรมาส ทำให้ช่วยชดเชยรายได้จากธุรกิจหลักอื่นๆ ที่หดตัวลง ได้แก่ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และ NIM ที่คาดว่าจะหดตัวแรงเช่นกันเนื่องจากคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย ตามฐานเงินฝากที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสวนทางกับคาดการณ์การลดลงของ yield จากเงินให้สินเชื่อ

สอดคล้องกับฐานสินเชื่อที่ยังค่อนข้างชะลอตัวในงวดนี้ ประกอบกับการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง 0.125% มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.58 นอกจากนี้ ยังเห็นผลกระทบจากการที่ธนาคารฯ ได้บริหารจัดการสภาพคล่องส่วนเกินเป็นจำนวนมากจากการระดมเงินฝากเชิงรุกที่ผ่านมา ไปหาผลตอบแทนในตลาดเงินซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำกว่าการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้ว ปัจจัยบวกที่มีน้ำหนักมากกว่าจึงทำให้คาดการณ์กำไรสุทธิงวดนี้ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ยังคงประมาณการผลการดำเนินงานปี 2558-59 โดยคาดกำไรสุทธิปี 2558-59 เติบโต 11.3% และ 11% จากปีก่อน ตามลำดับ ด้วยปัจจัยขับเคลื่อนจากทิศทางธุรกิจที่ยังเห็นการเติบโตที่

อีกทั้งสอดคล้องกับไปการเติบโตของ GDP ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปี 2558 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดย BBL จะให้ความสำคัญกับการเติบโตของสินเชื่อ SME ขนาดเล็กมากขึ้นเนื่องจากความพร้อมในด้านระบบและพนักงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ที่เป็นไปในเชิงรุกขึ้นจากปี 2557

โดยแนะนำซื้อ โดยราคาหุ้นปัจจุบันอยู่ในระดับที่ถูกมาก สะท้อนได้จาก PBV ปี 2558 ที่ต่ำเพียง 1 เท่าต่ำสุดเมื่อเทียบกับ ธ.พ.ใหญ่และยังต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยกลุ่มฯ ที่ 1.6 เท่า Fair value ปี 2558 เท่ากับ 210 บาท อิง PBV 1.15 เท่า ตามวิธี GGM ภายใต้สมมติฐานคาดการณ์ ROE ที่ 12.00% ยังมี upside กว่า 18% จากราคาหุ้นปัจจุบัน

 

บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ (8 เม.ย.) ทางฝ่ายคาดว่า BBL จะมีกำไรสุทธิไตรมาส 1/58 ที่ 9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายลดต่ำลงจากไตรมาสก่อนที่ปกติไตรมาส 4 จะเป็นไตรมาสที่ BBL และธนาคารอื่นมีค่าใช้จ่ายสูงสุด

นอกจากนี้ในไตรมาสนี้ BBL ยังมีกำไรจากการเงินลงทุน โดยมีการขายตราสารหนี้และตราสารทุนออกไป แต่ทางฝ่ายคาดว่า BBL จะมีนำกำไรพิเศษจากกำไรในการขายเงินลงทุนนี้มาตั้งสำรองพิเศษ ทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นไม่มาก เมื่อเทียบกำไรสุทธิไตรมาส 1/58 กับไตรมาส 1/57 คาดว่าผลประกอบการจะทรงตัวโดยรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้นจากรายได้ค่าธรรมเนียม และกำไรจากการลงทุน แต่การตั้งสำรองเพิ่มสูงขึ้น และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการไม่เติบโต

อย่างไรก็ตามยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2558 ของ BBL ไว้ที่ 40 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% จากปีก่อน ถึงแม้ว่าสินเชื่อในไตรมาส 1/58 ของ BBL จะหดตัวลง แต่มองว่าด้วยความเชี่ยวชาญทางด้านสินเชื่อรายใหญ่ของ BBL จะทำให้ได้ประโยชน์จากการลงทุนขนาดใหญ่ของทั้งภาครัฐและเอกชนที่น่าจะกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปี 58 คงราคาพื้นฐาน 233 และยังคงแนะนำ “ซื้อ”

 

บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ (8 เม.ย.) คาดกำไรไตรมาส 1/58 ที่ 8,751 ล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อนและลดลง 2% จากปีก่อน โดยสินเชื่อยังเติบโตไม่ดีนัก หลังภาคธุรกิจชะลอการลงทุน ส่วน NIM ปรับตัวลงแรงจากเงินฝากที่ระดมเข้ามามากช่วงปีก่อนเป็นปัจจัยหลักที่กดดันกำไรในไตรมาสนี้

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวลงตามฤดูกาลช่วยชดเชย NIM ที่อ่อนตัว โดยมองว่าสินเชื่อของกลุ่มธนาคารจะดีขึ้นในครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตามหากสินเชื่อไม่โตตามเป้า สภาพคล่องในระดับสูงจะเป็นปัจจัยกดดัน NIM ได้ ทั้งนี้ยังแนะนำ “ซื้อ” เนื่องจากราคาหุ้นปัจจุบันคิดเป็น Forward PBV เพียง 1 เท่า โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 213 บาท

 

 

Back to top button