BA เผย Q1 จำนวนผู้โดยสารโต 8-9% รับตลาดยุโรป-รัสเซียฟื้น
BA เผย Q1/60 จำนวนผู้โดยสารโต 8-9% รับตลาดยุโรป-รัสเซียฟื้น เตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่ 3-4 เส้นทางปีนี้
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA คาดว่า ไตรมาส 1/60 จำนวนผู้โดยสารเติบโต 8-9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยอยู่ที่ 72-73% เป็นผลจากการเติบโตจากการเดินทางในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC ขณะเดียวกันเศรษฐกิจยุโรปดีขึ้นทำให้ผู้โดยสารกลุ่มเดิมกลับมา รวมถึงรัสเซียด้วย
โดยในปีนี้ BA มีแผนเปิดเส้นทางบินใหม่ 3-4 เส้นทาง โดยที่ผ่านมาได้เปิดเส้นทางสมุย-กวางโจว เมื่อวันที่ 21 มค.60 และที่เหลืออีกสามเส้นทาง ได้แก่ เกาะฟูก๊วก ใต้สุดของเวียดนามซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่น่าสนใจ คาดว่าจะเปิดบริการในไตรมาส 4/60 หรือในตารางบินฤดูหนาว เบื้องต้นจะทำการบิน 3-4 เที่ยวบิน/สัปดาห์
ส่วนเส้นทางเชียงใหม่-เวียงจันทน์ และเชียงใหม่-พุกาม ทั้งสองเส้นทางนี้อยู่ระหว่างการเจรจาที่คืบหน้าไป 50% โดยคาดว่าหากเจรจาสำเร็จจะเปิดทำการบินในไตรมาส 4/60 นี้
สำหรับเส้นทางกรุงเทพ-ดานัง เริ่มทำการบินเมื่อวันที่ 24 พ.ค.59 ความถี่ 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์และเมื่อได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยวจึงเพิ่มความถี่เป็น 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์เมื่อวันที่ 1 ก.พ.60 โดยในช่วง 9 เดือนที่ทำการบินมานั้น Cabin Factor เฉลี่ยที่ 65% และเดือน มิ.ย.-ส.ค.จะเป็นช่วงพีคเพราะเป็นช่วงปิดเทอมของเวียดนาม นอกจากนี้ BA ยังทำ Code Share กับ 5 สายการบินทำการบินเส้นทางนี้ ได้แก่ สายการบินกาต้าร์ สายการบินเคแอลเอ็ม สายการบินเอมิเรตส์ สายการบินเออิฮัด และสายการบินไทย
ขณะเดียวกัน BA ยังมองเห็นการเติบโตของตลาดจีน แม้ในช่วงที่ผ่านมามีการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่ BA ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะไม่มีลูกค้ากลุ่มดังกล่าว และคาดว่านักท่องเที่ยวจากจีนจะกลับมาเพราะความต้องการบินยังมีอยู่สูง ซึ่ง BA มีแผนเปิดจุดบินใหม่ในจีน เส้นทาง สมุย-ฉงชิ่ง แต่เนื่องจากเพิ่งเปิดเส้นทาง สมุย-เฉิงตูไปเมื่อปลายปีที่แล้ว และเมืองเฉิงตูกับเมืองฉงชิ่งอยู่ใกล้กันจึงชะลอไว้รอเวลาที่เหมาะสมก่อน
สำหรับในปีนี้ BA จะรับมอบเครื่องบินใหม่ 5 ลำ เป็นเครื่องบินแอร์บัส A319 จำนวน 3 ลำ และเครื่อง ATR 72-600 จำนวน 2 ลำ ทำให้สิ้นปี 60 ฝูงบินจะเพิ่มเป็น 39 ลำ โดยรองรับเส้นทางบินใหม่และการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน โดยยังคงเป้าหมายปีนี้ที่จะมีจำนวนผู้โดยสารเติบโต 12-13% จากสิ้นปี 59 มีจำนวนผู้โดยสาร 5.6 ล้านคนและ Cabin Factor เฉลี่ยที่ 72% เพิ่มจากปีก่อนที่เฉลี่ย 69%
นอกจากนี้ BA จะขยายเครือข่ายพันธมิตรสายการบินที่ทำการบินร่วม (Code Share) อย่างต่อเนื่องประมาณ 4 สายการบิน ซึ่งเป็นสายการบินแถบเอเชีย โดยเดือน ม.ค.60 ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับสายการบินเซี๊ยะเหมินของจีน
และล่าสุดได้ร่วมมือกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ทำ Code Share เพื่อผนึกกำลังสร้างเครือข่ายการบินให้แข็งแรงยิ่งขึ้น โดย THAI จะร่วมมือกับ BA ใน 14 เส้นทาง แบ่งเป็น เส้นทางในประเทศ 10 เส้นทาง ได้แก่ สมุย ลำปาง สุโขทัย ตราด กระบี่ เชียงใหม่ เชียงราย ซึ่งบางเส้นทางแม้ THAI จะบินอยู่แล้ว แต่ตารางเวลารองรับนักท่องเที่ยวโซนยุโรปยังมีน้อย เมื่อร่วมมือกับ BA จะทำให้เพิ่มทางเลือกให้ผู้โดยสารมากขึ้น
ส่วนใน 4 เส้นทางในภูมิภาคนี้ ได้แก่ มัลดีฟส์ ดานัง หลวงพระบาง และเสียมเรียฐ ขณะที่ BA ให้ THAI ทำการบินร่วมในเส้นทางกรุงเทพ-สิงคโปร์ ซึ่งBA ยังไม่มีเส้นทางบินตรงดังกล่าว ทั้งนี้ ข้อตกลงสัญญาเที่ยวบินระหว่าง THAI และ BA มีผลตั้งแต่ 26 มี.ค.-27 ต.ค.60 และจะต่ออายุได้คราวละ 6 เดือน
ทั้งนี้ธุรกิจการบินมีการแข่งขันอยู่เสมอ ซึ่งปีนี้ก็มองว่ามีการแข่งขันสูง จากที่หลายสายการบินได้เพิ่มเส้นทางการบิน และมีจำนวนเครื่องบินใหม่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี BA จะไม่ลงมาแข่งขันราคามากนัก แต่จะใช้ในการทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นตลาด. แต่ทั้งนี้เน้นบริการให้ผู้โดยสารเดินทางสะดวก มีการเชื่อมต่อเที่ยวบินโดยมีทางเลือกที่เหมาะสม ซึ่ง BA จะให้บริการแบบ Value for Money
โดยขณะนี้ BA ได้ทำสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน (Hedging) ไว้ประมาณ 60% ของปริมาณการใช้น้ำมัน และทำไปถึงสิ้นปี 60 ซึ่งนโยบายบริษัททำได้อย่างน้อย 50% ทั้งนี้การ Hedging ดังกล่าวช่วยจำกัดความเสี่ยงของราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 55-60 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งขณะนี้ขยับขึ้นมา ทั้งนี้น้ำมันถือเป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจที่มีสัดส่วน 30%ของต้นทุนรวม
สำหรับในปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนปกติ 2 พันล้านบาท ใกล้เคียงปีก่อนใช้ในการซื้อเครื่องบิน ปรับปรุงสนามบิน และจัดหาอะไหล่เครื่องบิน ทั้งนี้แหล่งเงินมาจากการขายหุ้น IPO โดยปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)ต่ำมาก
อย่างไรก็ดี นายพุฒิพงษ์ มีแผนจะจัดอันดับเครดิตของบริษัท เพื่อเป็นทางเลือกในการระดมทุน ทั้งนี้ตั้งแต่ BA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทำให้ภาพธุรกิจ BA ชัดเจนมากขึ้น และเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัท จากเดิมที่ภาพธุรกิจเป็นธุรกิจครอบครัว และบริษัทได้รับความไว้วางใจทั้งนักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศถือครองหุ้น BA มากขึ้น หรือประมาณครึ่งหนึ่งของสัดส่วนหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย(Free Float) จากเดิมส่วนใหญ่เป็นรายย่อย อนึ่ง ณ 11 มี.ค.หุ้น BA มี Free Float 32.53%
ส่วนการเข้าลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) นั้นบริษัทเห็นโอกาสทางธุรกิจหลายอย่าง ได้แก่ บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ(Air Cargo) , ธุรกิจให้บริการลานจอดและภาคพื้น, ครัวการบิน เป็นต้น ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ความชัดเจนในปีหน้า ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีเที่ยวบินที่สนามบินอู่ตะเภาอยู่แล้วคาดว่ามีโอกาสเติบโตโดยคาดมีเส้นทางบินไปกัมพูชา, เมียนมา ซึ่งจะมีปริมาณจราจร (Traffic)จำนวนมาก ซึ่งเดินทางมาใช้บริการรักษาพยาบาล เข้ามาทำงาน หรือมาจับจ่ายใช้สอยในไทย