นโยบายสหรัฐฯ-NPLแบงก์เพิ่มทำ Sell in May โหดกว่าเดิม!
นโยบายสหรัฐฯ-งบแบงก์กด Sell in May ปีนี้โหด! ด้าน นักวิเคราะห์ แนะขายเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง พร้อมติดตามข่าวต่อเนื่อง
นายสุเชษฐ์ สุขแท้ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยในรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ” ทาง FM 98.5 MHz สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ ช่วงเวลา 9.30-11.00 น. เมื่อวันที่ 30 เม.ย.60 ว่า ช่วง Sell in may ซึ่งโดยปกติจะอยู่ในไตรมาส 2 (พ.ค.-ก.ค.) ในระยะ 10 ปี นับตั้งแต่ตั้งแต่ปี 2550-2560 จะเป็นช่วงการปรับตัวลงของตลาดหุ้น โดยขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และจะทำหุ้นราคาหุ้นปรับตัวมากน้อยเท่าไหร่ ทั้งนี้ Sell in May จะสิ้นสุดประมาณส.ค.
ทั้งนี้ SELL in May ในปีนี้มีความแตกต่างจากปีที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องของบริบทในเรื่องของภูมิภาคหรือภูมิศาสตร์ของประเทศต่างๆ แล้ว ยังมีเรื่องนโยบายสหรัฐฯ ที่เข้ามากดดันตลาดหุ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมาจะเห็นแรงขายของต่างชาติและกองทุนที่ขายออกมากก่อนส่วนนักลงทุนจะเข้าไปรับจนปรับตัวขึ้นในระดับหนึ่ง ขณะที่ปริมาณการซื้อขายก็หายไป ซึ่งไม่เหมือนกับ Sell in May ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ส่วนในภาคอุตสาหกรรมมองว่า เริ่มมีปัญหาเรื่อง NPL ซึ่งจะเห็นได้จากผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ของกลุ่มธนาคารที่ประกาศออกมาในช่วงที่ผ่านมา บ่งบอกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมทางการเงินมีความเสี่ยงสูง
“ดังนั้น การที่จะลงทุนในตลาดทุนในรอบที่ปรับตัวขึ้นมาแตะ 1,580 –1,600 จุด ในไตรมาส 2 หรือในช่วง Sell in May แนะนำให้ขายเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ทั้งนี้หากปรับตัวลงให้ติดตามดูว่าที่ 1,550 จุด จะเอาอยู่ไหม อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไม่ต้องกังวลกับสถานการณ์ Sell in May มากนักเพียงแต่ปรับกลยุทธ์ให้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีจุดตัดความเสี่ยง เนื่องจากในปัจจุบันมีข่าวต่างๆ เข้ามากระทบต่อตลาดหุ้นค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ในช่วงนี้ให้ Sell และหาจุดรับเพราะอีกไม่นานราคาหุ้นก็อาจจะปรับตัวขึ้นมาได้ หรือในปลายปีช่วงส.ค.-ก.ย. จะเห็นว่าผลการดำเนินงานว่าบริษัทเติบโต”นายสุเชษฐ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม มองว่า Sell in May ปีนี้ค่อนข่างรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา จากนโยบายของสหรัฐฯ และในช่วงนี้จำเป็นต้องติดตามข่าวสารต่างๆ อยู่เป็นประจำ ทั้งนี้มองว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่แย่ไปมากกว่านี้แล้วและกำลังจะขยับขึ้นเพียงแต่ต้องรอเวลา สถานการณ์ภายในและภายนอก
อนึ่ง มีการรายงานมูลค่าการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุนเมื่อวันที่ 28 เม.ย.60 ซึ่งเป็นวันทำการสุดท้ายก่อนเข้าสู่พ.ค. ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของ Sell in May ดังนี้
จากตารางดังกล่าว พบว่า นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 5.70 พันล้านบาท, นักลงทุนบัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 79.73 ล้านบาท, นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทะิ 3.69 พันล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศขายสุทธิ 9.31 พันล้านบาท
ขณะที่ GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 1/60 เติบโตต่ำสุดในรอบ 3 ปี ส่งผลให้ฉุดเซ็นติเมนต์ต่อเนื่องมายังตลาดเอเชีย ทั้งนี้ตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน และค่าหุ้นในหลายตลาดทั่วโลกที่เพิ่มกลับขึ้นมาในระยะสั้น จากความเสี่ยงทางการเมืองในยุโรปที่ลดลง แต่กลับกลายเป็นประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนบางรายมองว่าจะทำให้สินทรัพย์เสี่ยงเกิดการปรับฐานได้ในระยะอันใกล้นี้
โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นแรง ตามความเสี่ยงทางการเมืองในฝรั่งเศสที่ลดลง หลังนาย Emmauel Macron ซึ่งมีนโยบายที่ค่อนข้างเป็นบวกกับตลาด และเป็นมิตรกับสหภาพยุโรป ผ่านเข้าไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งรอบที่ 2 วันที่ 7 พ.ค.นี้ อีกทั้งผลโพลล่าสุด ชี้ว่าเป็นไปได้สูงมาที่ “Macron” จะชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี
นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นปัจจัยลบ ที่อาจจุดชนวนให้เกิดการปรับฐานของตลาดหุ้นในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นแรงเทขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะเหล็ก ซึ่งราคาแร่เหล็กในตลาด Dalian Commodity Exchange ปรับตัวลดลงแรงต่อเนื่องราว 45% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และเริ่มกดดันให้โลหะอุตสาหกรรมอื่นๆ ปรับตัวลดลงตาม รวมทั้งราคาน้ำมัน WTI ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ กว่า 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากที่เคยทรงตัวที่ระดับ 52-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงต้นปียิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ตลาดหุ้นโลก ซึ่งซื้อขายที่ระดับ Valuation ค่อนข้างแพง มีความเสี่ยงที่จะปรับฐานในระยะอันใกล้นี้