JWD เปิดศูนย์ LCL ในท่าเรือแหลมฉบัง ตั้งเป้ารายได้ทั้งปีแตะ 60 ลบ.

JWD เปิดศูนย์รวมเก็บ-สินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ (LCL) ในท่าเรือแหลมฉบัง คาดลูกค้าทยอยนำของเข้าคลังสินค้าในพ.ค.นี้ ตั้งเป้ารายได้ทั้งปีแตะ 60 ลบ.


นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD เปิดเผยว่า ศูนย์รวมการเก็บและกระจายสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ (Less Container Load Freight Consolidation Hub: LCL) พร้อมเปิดให้บริการแล้ว หลังจากบริษัทได้รับใบอนุญาตสถานที่ตรวจและบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออกจากกรมศุลกากรเป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้ บริษัทเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่ให้บริการดังกล่าวภายในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร (Free Zone) คาดว่าลูกค้าจะทยอยนำของเข้าคลังสินค้าได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ โดยใช้พื้นที่ตรงคลังสินค้าเดิมที่ปิดปรับปรุง ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 6,000 ตารางเมตร จึงไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่มเติม

โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ใช้บริการ LCL คือ ตัวแทนนำเข้าส่งออกรายใหญ่ที่เป็นผู้รวบรวมสินค้า (Consolidator) จากหลากหลายผู้ผลิตในประเทศ กลุ่มเป้าหมายรอง ได้แก่ ตัวแทนนำเข้าส่งออกสินค้ารายเล็กที่ส่งออกสินค้าจำนวนน้อยและต้องการใช้บริการรวมสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ก่อนขนย้ายขึ้นเรือขนส่งสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งภาพรวมยอดการส่งออกสินค้าแบบ LCL สูงถึง 200,000 ตู้ต่อปี และรายได้ค่าบริการต่อตู้ค่อนข้างสูงประมาณ 5,500-6,000 บาทต่อตู้ เนื่องจากเป็นงานที่ต้องอาศัยการบริหารและจัดการที่ดี เพื่อความถูกต้องและแม่นยำในการรวมรวมสินค้าจากผู้ส่งออกหลายราย

ทั้งนี้ โครงการศูนย์ LCL ท่าเรือแหลมฉบังจะเพิ่มทางเลือกและความสะดวกให้กับผู้ส่งออกเป็นอย่างมาก ช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกิจกรรมโลจิสติกส์ เนื่องจากศูนย์รวมตู้ตั้งอยู่ภายในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือปลายทางที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ใช้บริการ ปัจจุบันมีพื้นที่เปิดบริการศูนย์ LCL เพียง 2 แห่งคือ ที่ท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) และที่ Inland Container Depot หรือ ICD ที่ลาดกระบัง ซึ่งตู้ LCL ส่วนใหญ่ก็จะถูกลากมาเพื่อรอขึ้นเรือขนส่งสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง

เรามีนโยบายเป็น First Mover ที่ต้องการบุกเบิกธุรกิจหรือเข้าไปรุกธุรกิจในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นรายแรก เช่น การเปิดศูนย์ LCL ซึ่ง JWD เป็นรายแรกที่เปิดให้บริการในท่าเรือแหลมฉบัง โดยเรามั่นใจว่าจะสามารถให้บริการลูกค้าได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีประสบการณ์ให้บริการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์แบบ 1 รายต่อ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ (Full Container Load : FCL) เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 15 ปี อีกทั้งมีทีมงานที่เชี่ยวชาญและเครื่องมือในการปฏิบัติงานพร้อม” นายชวนินทร์ กล่าว

ทั้งนี้บริษัทเชื่อว่าศูนย์ LCL ของบริษัทจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกสินค้ารายย่อย เนื่องจากตั้งอยู่ภายในท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือหลักเพื่อการส่งออก โดยประเมินว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ JWD ทั้งปีประมาณ 60 ล้านบาท ซึ่งมาจากรายได้สองส่วนทั้งจากการให้เช่าพื้นที่คลังสินค้าและรายได้จากการรับบริหารจัดการสินค้าเข้าสู่ตู้คอนเทนเนอร์ นอกจากนี้ LCL ยังเป็นธุรกิจที่มีรายได้ค่าบริการต่อตู้ค่อนข้างสูงและมีอัตรากำไรขั้นต้นที่น่าสนใจ

ส่วนภาพรวมการส่งออกสินค้าแบบ LCL ของผู้ส่งออกรายย่อยในปีที่ผ่านมานั้น ถึงแม้ยังมีปริมาณไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการภาพรวมการส่งออกสินค้าแบบเต็มตู้ FCL (Full Container Load) ของผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ที่มีประมาณ 7 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ แต่เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง โดยมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปีและเชื่อว่าน่าจะเติบโตได้ดีในอนาคต เนื่องจากมีผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย รวมทั้งสตาร์ทอัพ เกิดขึ้นมากและมีความต้องการส่งออกสินค้าในปริมาณไม่มาก

ส่วนภาพรวมการแข่งขัน คาดว่าจึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีคู่แข่งรายอื่นเข้ามารุกตลาดเพิ่มขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในการขอใบอนุญาตเปิดศูนย์ LCL ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง มีข้อกำหนดจากกรมศุลกากรว่าจะต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตพื้นที่ Free Zone เพื่อการพาณิชยกรรมในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังจึงจะสามารถเข้ามาลงทุนได้

Back to top button