PTTEP เอาอยู่! ราคาลบเล็กน้อย ไม่หวั่นอินโดฯฟ้อง 7 หมื่นล้าน
PTTEP เอาอยู่! ราคาลบแค่ 0.79% พร้อมท้าพิสูจน์ความเสียหายเหตุน้ำมันรั่วแหล่งมอนเทอรา ด้านผลวิจัยออสซี่ชี้ไม่กระทบระบบนิเวศ ยันพร้อมรับผิดชอบหากมีความเสียหายที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นจริง
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อว่า The Coordinating Ministry for Maritime Affairs อินโดนีเซีย ยื่นฟ้อง PTTEP และ PTTEP Australasia (Ashmore Cartier) หรือ PTTEP AA ต่อศาลในกรุงจาการ์ตา เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลของแหล่งมอนทารา ในทะเลติมอร์ ประเทศออสเตรเลีย จำนวน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.9 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2552 นั้น
โดย PTTEP ชี้แจงว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในปี 2552 PTTEP และ PTTEP AA ในฐานะผู้รับสัมปทานและผู้ดำเนินการโครงการมอนทารา ได้ประสานงานกับรัฐบาลออสเตรเลีย ทำการจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอิสระด้านสิ่งแวดล้อมทำการศึกษา วิจัย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่อาจเกิดขึ้นจากการรั่วไหลของน้ำมัน
ซึ่งผลการศึกษา สรุปได้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งในน่านน้ำออสเตรเลียและบริเวณใกล้เคียงน่านน้ำอินโดนีเซียแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังได้ทำการศึกษาภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ รวมถึงการสร้างแบบจำลองการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมัน (Trajectory Modelling) และพบว่าคราบน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในน่านน้ำออสเตรเลีย ที่สำคัญคือ คราบน้ำมันไม่ได้ลอยเข้าสู่แนวชายฝั่ง ทั้งออสเตรเลียและอินโดนีเซีย
ต่อมา เมื่อปี 2553 PTTEP และ PTTEP AA ได้ทราบว่า รัฐบาลอินโดนีเซีย ยื่นข้อเรียกร้องค่าเสียหายว่า น้ำมันที่รั่วไหลส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีผลต่อการประมง
จากนั้น PTTEP และ PTTEP AA ได้ประสานงานกับรัฐบาลอินโดนีเซีย เพื่อแจ้งให้ทราบว่า PTTEP และ PTTEP AA ยินดีที่จะเจรจาอย่างสุจริตใจ และร่วมกับรัฐบาลอินโดนีเซียในการพิสูจน์ความเสียหาย รวมถึงจัดส่งผลการศึกษาให้กับรัฐบาลอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ ได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลบริเวณแนวปะการังใกล้เคียงกับน่านน้ำอินโดนีเซีย เพื่อตรวจสอบว่ามีคราบปิโตรเลียมหรือไม่ โดยผลการทดสอบพบว่าไม่พบคราบปิโตรเลียม ซึ่งมาจากการรั่วไหลของแหล่งมอนทารา และไม่พบการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อสภาพปะการังในบริเวณดังกล่าว
ทั้งนี้ PTTEP AA ได้เจรจากับรัฐบาลอินโดนีเซียเป็นเวลาพอสมควร และพยายามที่จะประสานงานเพื่อลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง PTTEP AA กับรัฐบาลอินโดนีเซีย เพื่อหาข้อยุติและพิสูจน์ความเสียหาย (หากมี) ร่วมกัน เริ่มด้วยการให้ทั้งสองฝ่ายจัดส่งเอกสารหลักฐานในส่วนของตน
โดย PTTEP AA ได้ดำเนินการจัดส่งผลการศึกษาให้ แต่รัฐบาลอินโดนีเซียยังไม่ได้จัดส่งเอกสาร เพื่อพิสูจน์ความเสียหาย รวมถึงยังไม่อนุญาตให้ PTTEP AA เข้าพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ในบันทึกข้อตกลง (MOU) มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการกลางร่วมกัน เพื่อให้ความเห็นจากผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
พร้อมกันนี้ PTTEP และ PTTEP AA ยินดีที่จะรับฟังหลักฐานพิสูจน์ความเสียหายที่เกิดขึ้น และพร้อมรับผิดชอบหากมีความเสียหายที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นจริง และ PTTEP รับทราบข่าวเรื่องการฟ้องร้องดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่ได้รับเอกสารเกี่ยวกับการฟ้องร้องอย่างเป็นทางการ จึงไม่ทราบรายละเอียดของการยื่นฟ้องครั้งนี้
ขณะที่ นายอารีฟ ฮาวาสช โอโกรเซโน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงประสานงานกิจการทางทะเลของอินโดนีเซีย ระบุว่า ได้ยื่นฟ้องร้องทางกฎหมายต่อศาลแขวงจาการ์ตากลาง เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (3 พ.ค.) ในการเอาผิดกับบริษัทปิโตเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และ บริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย จำกัด หรือ PTTEP Australasia บริษัทลูกในประเทศออสเตรเลีย รวมถึงบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP
โดยคาดว่ามีปริมาณน้ำมันมากกว่า 400 บาร์เรลต่อวัน รั่วไหลสู่ทะเลติมอร์ หลังเหตุระเบิดที่แท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ บริเวณแหล่งขุดเจาะมอนทาราของ PTTEP นอกชายฝั่งออสเตรเลียเมื่อปี 2552
ทั้งนี้ PTTEP Australasia ได้ส่งผ่านบทบาทการทำความสะอาดคราบน้ำมัน ให้หน่วยงานความปลอดภัยทางทะเลของออสเตรเลีย (the Australian Maritime Safety Authority: AMSA) ตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ ด้วยวิธีการล้อมคราบน้ำมันและดูดกลับรวมถึงฉีดสารเคมี โดยใช้เวลาในการระงับเหตุทั้งหมด 74 วัน
โดย โอโกรเซโน ชี้แจงถึงการฟ้องร้องทางแพ่งครั้งนี้ว่า เป็นความพยายามแสวงหาความยุติธรรม โดยได้เรียกร้องเงินชดเชย 1,725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 60,375 ล้านบาท สำหรับค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม และอีก 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 10,500 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในงานด้านฟื้นฟู โดยระบุว่า ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงป่าชายเลน 2,965 เอเคอร์ (ประมาณ 7,500 ไร่), หญ้าทะเล 3,460 เอเคอร์ (ประมาณ 8,750 ไร่) และปะการัง 1,730 เอเคอร์ (ประมาณ 4,300 ไร่)
ทั้งนี้ เมื่อปี 2554 คณะผู้ตรวจสอบอิสระในออสเตรเลีย กล่าวโทษ PTTEP และผู้ดูกฎระเบียบที่หย่อนยานสำหรับเหตุน้ำมันรั่วครั้งนี้ โดยรายงาน ระบุว่า การที่ PTTEP ติดตั้งแนวกั้นในบ่อน้ำมันเพื่อป้องกันการรั่วไหลเพิ่มเติมนั้น ดำเนินการอย่างไม่เพียงพอ และไม่ได้ติดตั้งแนวกั้นอันที่สองที่จำเป็นต้องทำอีกด้วย
จึงส่งผลให้ปลาหลายพันตัวลอยตาย และพบกลุ่มคราบน้ำมันลอยไปใกล้ๆแนวชายฝั่งของอินโดนีเซียราว 2 เดือน หลังจากเกิดเหตุ ขณะที่เหตุการณ์นี้ถือเป็นกรณีน้ำมันรั่วครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมปิโตรเลียมนอกชายฝั่งของออสเตรเลีย
อนึ่ง การตัดสินใจฟ้องร้องของรัฐบาลอินโดนีเซียเกิดขึ้นภายหลังการเจรจาต่อรอง โดยไม่ต้องฟ้องร้องคดีกับ PTTEP ไม่มีความคืบหน้ามาตั้งแต่ปี 2555
ล่าสุด ราคาบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ณ เวลา 11.42 น. ราคาอยู่ที่ 93.75 บาท ลบ 0.75 บาท หรือ 0.79% สูงสุดที่ 94.25 บาท ต่ำสุดที่ 93.25 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 369.10 ล้านบาท