ผถห.”โอริออน”ฟ้อง ACAP ปลอมเอกสาร-“สุกัญญา”พร้อมให้ตรวจสอบทุกเมื่อ!
ผู้ถือหุ้น "โอริออน" ฟ้อง ACAP คดีปลอมแปลงเอกสาร -"สุกัญญา" ยืนยันมีหลักฐานชัดเจน พร้อมให้ตรวจสอบทุกเมื่อ! เบื้องต้นเจรจากับก.ล.ต.เรียบร้อยแล้ว
นายคณิตสิทธิ์ วัสสันชาติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทบางกอก ฮันบันโด จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท โอริออน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในสัดส่วน 70% และเป็นเจ้าของโครงการ ดิ โอริออน คอนโด พัทยา เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการฟ้อง บริษัท โอริออน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และนายเฑียร คล้ายมาลากุณ กรรมการผู้มีอำนาจทำสัญญาเงินกู้ระหว่างบริษัทโอริออน และบริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP ในคดีอาญาจำนวน 2 คดี กรณีปลอมแปลงเอกสาร และเอกสารเป็นเท็จ และคดีแพ่งอีก 1 คดี มูลค่า 300 ล้านบาท
โดยเบื้องต้นได้ยื่นเอกสารร้องเรียนประเด็นการปล่อยกู้เงินของ ACAP ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ไปแล้ว และเตรียมยื่นหนังสือให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.เพื่อตรวจสอบว่าธุรกรรมดังกล่าวดำเนินงานถูกต้องและโปร่งใสหรือไม่
ทั้งนี้ตามที่นางสาวสุกัญญา สุขเจริญไกรศรี ผู้บริหารของ ACAP ได้ให้ข้อมูลกับทางสื่อมวลชนไว้ว่า ACAP ได้อนุมัติเงินกู้ 300 ล้านบาท ให้กับ บริษัท โอริออน ในวันที่ 25 พ.ย. 59 โดยได้ตรวจสอบหลักฐานทุกอย่างที่ผู้กู้นำมาแสดงอย่างละเอียดแล้ว คือ สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น รวมถึงใบหุ้นที่ลูกค้านำมาทำสัญญาจำนำ และ ACAP ยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกรณี
แต่เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 59 ทางบริษัท บางกอก ฮันบันโด ได้มีการไปยื่นแจ้งให้ระงับการทำธุรกรรมทางการเงินแก่ทาง ACAP โดยให้เหตุผลว่าได้มีการแจ้งความเรื่องยักยอก และดำเนินคดีเรื่องการปลอมแปลงเอกสารหุ้น ของทางโอริออน ซึ่งอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล แต่ทาง ACAP ปฏิเสธที่จะรับเรื่อง
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 59 บริษัท บางกอก ฮันบันโด ได้ส่งหนังสือดังกล่าวทางจดหมายลงทะเบียนให้แก่ ACAP อีกครั้ง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 59 จนถึงวันนี้ (11 พ.ค. 60) ที่มีการแถลงข่าว บริษัท บางกอก ฮันบันโด ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อประสานใดๆ จาก ACAP เพื่อเข้าพบหรือชี้แจงในเรื่องดังกล่าว แต่กลับยังดำเนินการปล่อยเงินกู้ต่อไป
“ตอนนี้ต้องการทราบเกี่ยวกับหลักการดำเนินงานของ ACAP ในการปล่อยกู้สินเชื่อ 300 ล้านบาท ว่าอนุมัติได้อย่างไร ในขณะที่บริษัทบางกอก ฮันบันโด ยังถือหุ้นใหญ่อยู่ 70% และไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการ ประกอบกับได้ยื่นเอกสารให้ระงับการทำธุรกรรมทางการเงินแก่ทาง ACAP เมื่อวัน 28 พ.ย. 59 หลังจาก ACAP อนุมัติเงินกู้เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 59 แต่ไม่ได้รับการติดต่อประสานงานใด” นายคณิตสิทธิ์ กล่าว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ACAP ได้ปล่อยกู้รอบแรกจำนวน 115 ล้านบาท โดยหักดอกเบี้ย 36 ล้านบาท และหักค่าธรรมเนียมอีก 10 ล้านบาท เหลือสุทธิประมาณ 70 ล้านบาท
ดังนั้นตนจึงมีคำถามที่อยากจะถามถึง ACAP ในเรื่องการอนุมัติให้สินเชื่อ 300 ล้านบาท เนื่องจากราคาทรัพย์สินมีมูลค่าที่คุ้มค่า แต่บริษัท โอริออน ซื้อราคาที่ดินมาเพียง 70 ล้านบาท ซึ่งการอนุมัติวงเงินดังกล่าวจะคุ้มค่าได้อย่างไร และเงินที่แจ้งว่า ACAP ได้ปล่อยกู้มาแล้ว อยากทราบว่าได้โอนเข้าบัญชีของ โอริออน หรือไม่ ซึ่ง โดยส่วนตัวไม่มีการรับรู้เรื่องเงินจำนวนนี้
ส่วนนายอธิปรัฐ กาญจนสุวรรณ กรรรมการผู้มีสิทธิ์ลงนามแต่เพียงผู้เดียว ของบริษัท โอริออน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้เข้ามาร่วมฟังการแถลงข่าว เพื่อขอพูดคุยกับนายคณิตสิทธิ์ เช่นกัน ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะตนถูกฟ้องร้อง และยังกล่าวถึงบริษัท ACAP ว่าจะดำเนินงานอย่างไรหลังจากปล่อยกู้ 300 ล้านบาท
“ทาง ACAP ได้อนุมัติปล่อยกู้ให้บริษัท โอริออน จำนวน 300 ล้านบาท และทางผู้บริหารกล่าวว่ามูลค่าหลักทรัพย์คลุมมูลค่าหนี้สินได้ เพราะเมื่อสร้างเสร็จจะมีมูลค่า 1,278 ล้านบาท จึงอยากทราบในกรณีถ้าสร้างไม่เสร็จจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร” นายอธิปรัฐ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันนายอธิปรัฐ ถูกศาลสั่งระงับการเข้ามาเป็นคณะกรรมการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 51% ส่วนการถือหุ้นที่เหลือเป็นของเกาหลี 2 รายจำนวน 19% และรัสเซียอีก 3 ราย อีก 30% โดยเข้ามาถือหุ้นตั้งแต่ช่วงเดือนก.พ. 60
ด้านนางสาวสุกัญญา สุขเจริญไกรศรี ผู้บริหารของ ACAP เปิดเผยว่า ขณะนี้เกิดปัญหาโดยมีผู้ไปร้องเรียนให้มีการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของบริษัท ซึ่งบุคคลที่มาเรียกร้องก็ไม่ใช่หนึ่งในคณะกรรมการของบริษัทโอริออน เพราะฉะนั้นหากจะมากล่าวหาว่าบริษัททำธุรกรรมไม่ถูกต้อง ก็สามารถนำหลักฐานเข้ามา หรือจะไปร้องเรียนหน่วยงานใดก็ได้ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้องจริงๆ
โดยบริษัทขอยืนยันว่ามีหลักฐานพร้อมให้ตรวจสอบ ว่าทุกอย่างดำเนินการด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม แต่หากผู้ถือหุ้นของบริษัทโอริออนมีปัญหากันเองภายใน ก็ต้องมีการต่อสู้กันเองภายใน โดยที่บริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ถ้าวันนี้ไม่ว่าใครก็ตามทำผิดเงื่อนไขสัญญากู้เงิน ทางบริษัทจะยึดทรัพย์สินที่นำมาค้ำประกันทันที
ทั้งนี้ในเรื่องของกระบวนการตรวจสอบใบหุ้นที่นำมาจำนองนั้น บริษัทขอยืนยันว่าใบที่มาจำนองอยู่เป็นของจริง เนื่องจากเป็นรายชื่อที่ออกจากหนังสือรับรองของกระทรวงพาณิชย์ (บจ 5) ซึ่งผู้ถือหุ้นมาแสดงตนที่บริษัท และมาทำสัญญาจำนองหุ้นที่บริษัท ซึ่งบริษัทโอริออนได้ปิดสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นมาจำนองไว้ที่ ACAP
โดยปัจจุบันนี้ หนังสือจำนองทะเบียนผู้ถือหุ้นติดอากรแสตมป์ก็ยังอยู่ในเซฟที่ ACAP แต่ถ้าภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น จะต้องมาเบิกใบหุ้นดังกล่าวที่ ACAP แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีการมาเบิกใบหุ้นที่ ACAP แต่อย่างใด และถ้าตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง จึงถือว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสารทั้งสิ้น
“วันนี้ถ้าโอริออนมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น และไม่มาเบิกใบหุ้นที่บริษัท ถือว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสารของกระทรวงพาณิชย์แล้ว และผิดเงื่อนไขการกู้เงินแล้ว ตอนนี้ ACAP จะไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งนั้น เพราะเป็นเจ้าหนี้” นางสาวสุกัญญา กล่าว
ส่วนกรณีที่ร้องเรียนถึงสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ตรวจสอบ ACAP นั้น เบื้องต้นทางบริษัทได้ส่งเอกสารไป 1 ฉบับ เพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าวกับทาง ก.ล.ต.แล้ว แต่ทางผู้ร้องเรียนยังคงไม่จบ และได้ไปร้องเรียนตามหน้าหนังสือพิมพ์ ก.ล.ต.จึงให้ทาง ACAP เจรจาผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่ง ก.ล.ต.เองก็เข้าใจ เนื่องจากเอกสารที่บริษัทมีเป็นของจริงทั้งหมด จึงต้องการให้ ACAP ชี้แจงกับนักลงทุน หรือผู้ถือหุ้น