TSTH คาดยอดขายงวดปี 60/61 โต 10% หลังเพิ่มกำลังการผลิต
TSTH คาดยอดขายงวดปี 60/61 โต 10% จากปีก่อนที่มียอดขาย 1.26 ล้านตัน หลังเพิ่มกำลังการผลิต – เล็งเพิ่มสัดส่วนการส่งออกเป็น 10% จากเดิม 7% พร้อมลุยขยายตลาดใหม่ในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ – ชี้ความต้องการใช้เหล็กในปีนี้เพิ่มสูงขึ้น จากโครงการลงทุนภาครัฐ
นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSTH เปิดเผยว่า บริษัทคาดยอดขายในงวดปี 60/61 (เม.ย.60-มี.ค.61) เติบโตราว 8-10% จากปีก่อนที่มียอดขาย 1,262,200 ตัน และในงวดปีนี้จะเพิ่มการใช้กำลังการผลิตเป็น 78-79% จากปีก่อนอยู่ที่ 74% ของกำลังการผลิตรวม 1.7 แสนตัน
โดยปีนี้จะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกเป็น 8-10% หรือจำนวนประมาณ 1 แสนตัน จากปีก่อนมีสัดส่วนการส่งออก 7% หรือจำนวน 85,300 ตัน ทั้งนี้ได้ขยายตลาดใหม่ที่ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งจะเริ่มส่งออกไปออสเตรเลียงวดแรก 200 ตันในเดือนพ.ค.นี้ และบริษัทยังคงมีตลาดส่งออกหลักที่ ลาว กัมพูชา และอินเดีย
ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการใช้เหล็กในประเทศในปี 60 อยู่ที่ 19.51 ล้านตัน ทรงตัวจากปี 59 ที่มีความต้องการใช้เหล็กในประเทศอยู่ที่ 19.29 ล้านตัน
ขณะที่ ในปีนี้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศยังคงมาจากความต้องการของธุรกิจก่อสร้าง ที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการลงทุนภาครัฐ ซึ่งในปี 59 ยอดความต้องการใช้เหล็กในประเทศเติบโตถึง 15.4% จากปี 58 ที่มีความต้องการใช้เหล็กในประเทศ จำนวน 15.72 ล้านตัน
เนื่องจากเป็นปีที่เริ่มมีความต้องการใช้เหล็กจากโครงการลงทุนภาครัฐเข้ามา ในทางกลับกัน กำลังการผลิตในประเทศในปี 59 เพิ่มสูงขึ้น 23% มากกว่าความต้องการใช้ และยังมีการนำเข้า 10% ขณะที่ส่งออกไป 8% ดังนั้นส่วนที่เกินความต้องการกลายเป็นสต็อกที่คาดว่าจะนำออกมาใช้ในปีนี้
ปัจจุบัน ปริมาณเหล็กในโลกประเมินว่ามีส่วนเกินอยู่ในตลาดมากถึง 300 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน ซึ่งทางการจีนได้แก้ปัญหาโดยปิดทำการผลิต หรือปิดโรงงานที่ผลิตเหล็กที่ไม่ได้คุณภาพ และ เพิ่มความต้องการใช้เหล็กภายในจีน เพื่อปรับสมดุลความต้องการและการผลิต อย่างเช่นในโครงการ One Belt One Road
ด้านราคาเหล็ก ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาปรับตัวลง เพราะผู้ประกอบการหันมาผลิตมากขึ้นเมื่อเห็นราคาเหล็กปรับตัวขึ้นสูงในช่วงม.ค.-มี.ค.60 ทำให้ราคาลดลง แต่ราคาในเดือน พ.ค.ค่อนข้างนิ่ง โดยราคาหน้าโรงงานอยู่ที่ 15,000 -15,200 บาท/ตัน และเชื่อว่าราคาจะไม่ตกไปกว่านี้ แต่ก็ขึ้นอยุ่กับราคาเศษเหล็กด้วยซึ่งเป็นต้นทุนวัตถุดิบสำคัญ ซึ่งราคาในประเทศอยู่ที่ 245 เหรียญ/ตัน ส่วนราคานำเข้าอยุ่ที่ 575-285 เหรียญ/ตัน
ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 1 ปี 60/61 จะไม่ค่อยดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการชะลอการสั่งซื้อในเดือนพ.ค.-มิ.ย.ไปเป็นเดือน ก.ค.-ส.ค. อย่างไรก็ตาม ในมีเวลาอีก 45 วันที่ติดตามราคาเหล็กจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นหรือไม่
ทั้งนี้ บริษัทคาดจะเจรจาขายเตาถลุงเหล็กขนาดเล็ก (NBF) ออกไปให้ได้แล้วเสร็จและเซ็นสัญญาซื้อขายได้ภายใน 12 เดือนนี้ โดยหลังจากเซ็นสัญญาแล้วจะมีขั้นตอนการขนย้ายประมาณ 15 เดือน ทั้งนี้ในงวดปี 59/60 (เม.ย.59-มี.ค.60)ได้บันทึกประมาณการด้อยค่าสินทรัพย์เตาถลุงเหล็กขนาดเล็ก (MBF) จำนวน 528 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนี่งที่ทำให้เกิดผลขาดทุนของงบรวมในไตรมาส 4 ปี 59/60
ขณะเดียวกัน ในงบรวมของบริษัท ณ สิ้นงวดปี 59/60 (มี.ค.60) มีผลขาดทุนสะสมอยุ่ที่ 3,278 ล้านบาท โดยจะนำกำไรจากการดำเนินงานไปล้างขาดทุนสะสมได้ แต่ทั้งนี้ บริษัทจะกันเงินไว้เป็นงบลงทุนราว 400-500 ล้านบาทต่อปี เพื่อใช้ปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อรักษาสถานะให้มีการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการใช้พลังงานได้เพื่อลดต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินปันผลบริษัทก็สามารถทำได้หากจะจ่ายเงินปันผลจากงบเดี่ยวเพราะมีผลกำไร แต่ทั้งนี้ขึ้นกับนโยบายของคณะกรรมการบริษัท