GUNKUL คงเป้ารายได้ปีนี้แตะ4.3พันลบ. เล็งยื่นซองงานรัฐ-เอกชนต่อเนื่อง

GUNKUL คงเป้ารายได้ปีนี้โตแตะ 4.3 พันลบ. หลังรับรู้รายได้จากการจ่ายไฟเพิ่ม 68MW เล็งยื่นซองประมูลงานภาครัฐ-เอกชนต่อเนื่อง เผยอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนด้านพลังงานทดแทนในต่างประเทศเพิ่ม หวังเพิ่มกำลังผลิตเป็น 1,000MW ภายใน 3 ปี (60-63)


นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้เติบโตเป็น 4,300 ล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้ 3,638.65 ล้านบาท เป็นไปตามการรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกราว 68 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 487 เมกะวัตต์ ได้แก่

โรงไฟฟ้ากังหันลมห้วยบง เฟส 2 กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ คาดจะขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในเดือนธ.ค.ปีนี้ อีกทั้งจะรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าเข้ามาทันที ภายหลังเสร็จสิ้นการดำเนินการเข้าซื้อหุ้นในบริษัท บีเอ็มพี โซล่าร์ จำกัด (BMP Solar) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ ที่ จ.สระแก้ว โดยคาดกระบวนการดังกล่าวจะแล้วเสร็จได้ภายในเดือนพ.ค.นี้

อีกทั้งบริษัทยังคงรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลม เฟส 3 ที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ คาดจะ COD ได้ในช่วงไตรมาส 2/61 ขณะที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC) ปัจจุบันมีมูลค่างานในมือ(Backlog) ราว 1.2 พันล้านบาท โดยจะทยอยรับรู้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทยังจะเข้าร่วมประมูลงานโครงการทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม คาดสิ้นปีนี้สัดส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีนิติบุคคล ค่าเสื่อม และค่าจัดจำหน่าย(EBITDA) ในธุรกิจไฟฟ้าจะอยู่ที 70 % และธุรกิจเดิมจะอยู่ที่ 30 % ขณะที่ปี 61 สัดส่วน EBITDA ธุรกิจไฟฟ้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 80 % จากการ COD โครงการพลังงานลมครบทั้งหมด 3 เฟส

ด้านผลการดำเนินในช่วงไตรมาส 2/60 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/60 จากการรับรู้รายได้จากโครงการพลังงานลมเข้ามาเพิ่มเติม ประกอบกับ บริษัทจะได้รับผลบวกจากการที่กระทรวงพลังงานได้ปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ ที่ 12.52 สตางค์ต่อหน่วย คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้กำไรจากการขายไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 3-4 %

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมยื่นขอเสนอขายไฟฟ้าในโครงการพลังงานทดแทนที่ภาครัฐจะเปิดประมูลในปีนี้ ส่วนของโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์การเกษตรเฟสที่ 2 คาดว่าจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค.60 ถึงวันที่ 10 มิ.ย.60 คาดหวังจะได้ร่วมโครงการราว 20 เมกะวัตต์ ซึ่งน่าจะรู้ผลในไตรมาส 3/60 และบริษัทคาดว่าจะเริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 1/61 ขณะที่บริษัทจะยื่นข้อเสนอในส่วนของโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการร่วมกับองค์การทหารผ่านศึก คาดหวังจะชนะประมูลราว 5 เมกะวัตต์

อีกทั้งบริษัทยังมีความสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการ SPP Hybrid Firm และโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ซึ่งคาดจะเห็นความชัดเจนในเรื่องกฎระเบียบจากหน่วยงานภาครัฐในช่วงไตรมาส 3/60

ขณะเดียวกันบริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในต่างประเทศเพิ่มเติม จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ในญี่ปุ่นแล้ว 241.3 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้สนใจการลงทุนเพิ่มในญี่ปุ่น รวมไปถึงประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม บริษัทสนใจจะเข้าไปลงทุนในโครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงประเทศมาเลเซีย สนใจเข้าไปลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้ารวมให้ไปถึงเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ภายใน 3 ปี (60-63)

ทั้งนี้บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้มูลค่า 3-4  พันล้านบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ อายุไม่เกิน 3 ปีพื่อนำเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจด้านพลังงาน และรีไฟแนนซ์ให้ต้นทุนดอกเบี้ยลดลง หรือมีต้นทุนเหลือไม่เกิน 3.5-3.6% ต่อปี ขณะเดียวกันก็มีแผนเดินทางไปให้ข้อมูลแก่นักลงทุน (โรดโชว์) ที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ภายในปีนี้ คาดว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจในธุรกิจของบริษัทมากขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติถือหุ้น ราว 4-5 %

Back to top button