NOK ระส่ำหนัก! “การบินไทย” เมินเพิ่มทุนต่อชีวิต

“การบินไทย” เมินเก็บหุ้นเพิ่มทุน NOK หลังเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 2.40 บาท หวั่นไม่ผ่านประเมิน ICAO อดบินตปท.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ได้ทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม 625 ล้านบาท เป็น 1.41 พันล้านบาท โดยวิธีการออกหุ้นใหม่จำนวน 781.25 ล้านหุ้น และได้มีการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 625 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 2.40 บาท ซึ่งมีกำหนดการจองซื้อในระหว่างวันที่ 16-19 และ 22 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด แหล่งข่าวภายในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้เปิดเผยกับ ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ว่า THAI ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ NOK ไม่ได้มีการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนแต่อย่างใด โดยก่อนหน้านี้ ร.อ.มนตรี จำเรียง กรรมการ NOK และ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน THAI เปิดเผยว่า ในฐานะที่ THAI เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 39.2% ก็จะดำเนินการซื้อหุ้นเพิ่มตามสัดส่วน ขณะที่ในกรณีไม่สามารถจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนได้ทั้งหมด บริษัทฯจะมีการพิจารณาว่าจะจำหน่ายหุ้นที่เหลือให้แก่กลุ่มใด ทั้งนี้ THAI ยังสามารถลงทุนเพิ่มได้อีก แต่จะไม่ถือหุ้นในสัดส่วนเกินกว่า 49% เนื่องจากไม่ต้องการให้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ

อย่างไรก็ดี กรณีที่ THAI ไม่ได้ทำการซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้น เบื้องต้นจะส่งผลกระทบต่อ NOK เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อสถานะการเงินของบริษัทฯถือว่าอยู่ในช่วงวิกฤต โดยสามารถวัดได้จากผลการดำเนินงานที่ยังประสบผลขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่มีกำไรสุทธิจำนวน 1.07 พันล้านบาท ขณะที่ปี 2557 พลิกกลับมามีผลขาดทุนสุทธิ 471 ล้านบาท ปี 2558 มีผลขาดทุนสุทธิเพิ่มเป็น 726 ล้านบาท และปี 2559 มีผลขาดทุนสุทธิ 2.80 พันล้านบาท และล่าสุด ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1 ปีนี้ (2560) บริษัทฯมีผลขาดทุนสุทธิ 295.57 ล้านบาท

นอกจากนี้ การที่บริษัทฯประสบผลขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ Equity ปรับตัวลดลงจนปัจจุบันติดลบอยู่ราว 56.65 ล้านบาท จากเคยอยู่ที่ระดับ 4.54 พันล้านบาท เมื่อปี 2556 ขณะเดียวกัน อัตราส่วนทุนหมุนเวียน หรือ Current ratio อยู่ที่ระดับเพียงแค่ 0.81 เท่า ซึ่งนั่นหมายถึงบริษัทฯอยู่ในภาวะขาดสภาพคล่อง โดยมีหนี้สินในระดับที่สูงกว่าทุน อีกทั้งยังมีโอกาสที่บริษัทฯอาจมีปัญหาในการชำระหนี้ระยะสั้นหากถึงวันครบกำหนดได้ ขณะที่สถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นตัวชี้วัดได้เป็นอย่างดีว่า บริษัทฯมีความจำเป็นต้องใช้เงินจากการเพิ่มทุนเพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่อง และเพื่อทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้

ข้อมูลสำคัญทางการเงินตามตารางดังนี้

คลิกที่ตารางเพื่อขยายขนาด

ทั้งนี้หาก THAI ไม่ได้ทำการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ จะส่งผลให้กลุ่ม “จุฬางกูร” ขึ้นมาเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อับดับ 1 และจะมีอำนาจในการบริหารกิจการสูงสุดแทน หากกลุ่มดังกล่าวมีการซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนเดิมที่กลุ่มตนนั้นถือครองหุ้นอยู่แล้ว โดยปัจจุบัน นายณัฐพล จุฬางกูร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ถือครองหุ้นอยู่ทั้งหมด 75,500,000 หุ้น หรือคิดเป็น 12.08% ส่วนนายทวีฉัตร จุฬางกูร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด 63,825,900 หุ้น หรือคิดเป็น 10.21% โดยหากรวมทั้ง 2 รายเท่ากับกลุ่มจุฬางกูรมีหุ้น NOK อยู่ทั้งหมดราว 22.29%

อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวจะต้องติดตามการเปิดเผยข้อมูล/รายงานการขายหุ้นเพิ่มทุนอย่างเป็นทางการของ NOK อีกครั้ง หลังการเพิ่มทุนเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับความคืบหน้าการขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ หรือ AOC Re-certification ล่าสุด NOK ยังไม่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศดังกล่าวแต่อย่างใด โดยปัจจุบัน การประเมินสายการบิน Nok Air และ NokScoot ยังอยู่ในขั้นตอนที่ 4.2 คือ การตรวจสอบภาคอากาศ จากกระบวนการที่มีทั้งหมด 5 ขั้นตอนด้วยกัน

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นคาดว่าสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จะสามารถยื่นเรื่องเชิญให้ทางองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO มาตรวจสอบ ICVM (ICAO Coordinated Validation Mission) เพื่อขอปลดธงแดงได้ภายในเวลาที่กำหนดคือ 30 มิถุนายน 2560 ซึ่งหากสายการบินใดของประเทศไทยที่ทำการบินระหว่างประเทศไม่สามารถผ่านขั้นตอนการประเมินได้ทันภายในเดือนมิถุนายน มีความจำเป็นต้องหยุดให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศโดยทันที

 

Back to top button