SSI คาดปริมาณขายเหล็กรีดร้อนปีนี้โตเป็น 2 ล้านตันจาก 1.47 ล้านตันปีก่อน

SSI คาดปริมาณขายเหล็กรีดร้อนปีนี้โตเป็น 2 ล้านตันจาก 1.47 ล้านตันปีก่อน วางเป้าเพิ่มสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษเป็นระดับ 60% ของปริมาณขายรวมภายใน 3 ปีข้างหน้า จากที่คาดระดับ 40% ในปีนี้


นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าปริมาณขายเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.47 ล้านตันในปีก่อน จากคาดการณ์ความต้องการใช้เหล็กเพิ่มขึ้นตามการลงทุนของภาครัฐและเอกชน

รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการขายเหล็กพรีเมียมเป็น 40% จาก 38% ของปริมาณขายในปีที่แล้วจะมีส่วนช่วยให้ส่วนต่างราคา(สเปรด)ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนสูงขึ้นด้วย ขณะที่มองความเสี่ยงที่ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนจะลดลงอีกนั้นค่อนข้างจำกัดหลังจากลดลงไปมากแล้ว

อย่างไรก็ดี ยังมองว่าความต้องการใช้เหล็กในปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้ว แม้หลายฝ่ายยังกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่การเมืองที่มีความมั่นคงน่าจะทำให้มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐออกมามากขึ้น ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนยังอยู่ในระดับที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ซึ่งจะผลักดันให้ปริมาณการขายเหล็กของบริษัทในปีนี้เป็นไปได้ตามเป้าหมาย แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีนี้อาจจะยังไม่ได้ขยายตัวมากนักก็ตาม

นอกจากนี้ บริษัทยังวางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ(Premium Value Products)เป็นระดับ 60% ของปริมาณขายรวมภายใน 3 ปีข้างหน้า จากที่คาดระดับ 40% ในปีนี้ โดยมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ ,พลังงาน เป็นต้น

ขณะที่ในส่วนของงานเหล็กก่อสร้างรางรถไฟทางคู่ของโครงการภาครัฐในอนาคตนั้น แม้ว่าปัจจุบันโรงรีดเหล็กของบริษัทในไทยจะยังไม่สามารถผลิตได้ แต่หากรัฐบาลมีโครงการที่ชัดเจน ก็พร้อมที่จะศึกษาและปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้สามารถได้รับประโยชน์จากการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐดังกล่าวด้วยในอนาคต

สำหรับแผนการดำเนินงานในปีนี้บริษัทจะพยายามลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนคงที่ โดยเฉพาะในส่วนของการลดปริมาณสินค้าและวัตถุดิบคงคลัง ซึ่งจะทำให้การใช้เงินทุนหมุนเวียนลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงด้วย

ส่วนของโรงถลุงเหล็กที่อังกฤษนั้น บริษัทจะพยายามทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA)เป็นบวกได้โดยเร็ว ซึ่งต้องดำเนินการในหลายอย่าง โดยระยะสั้นปีนี้จะเน้นการลดต้นทุน เพิ่มการผลิต และในระยะยาวอาจจะมีการลงทุนที่ใช้เงินไม่มาก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหลายๆด้านซึ่งทำให้ต้นทุนลดลง แต่การลงทุนเหล่านี้ยังต้องรอโอกาสที่เหมาะสมด้วย โดยปัจจุบันโรงถลุงเหล็กมีการผลิตเหล็กแท่งแบน(slab) ที่ระดับ 2.7 ล้านตัน หรือราว 70% ของกำลังการผลิตเต็มที่ ซึ่งหากสามารถผลิตได้ระดับ 85-90% ก็จะทำให้โรงถลุงสามารถทำกำไรได้

 

Back to top button