BTW มั่นใจรายได้ปีนี้โตกว่า 10% ชูงานในมือ 837 ลบ.รับรู้ปีนี้ส่วนใหญ่
BTW มั่นใจรายได้ปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 10% ชูงานในมือ 837 ลบ.รับรู้ปีนี้ส่วนใหญ่
นายโชติก รัศมีทินกรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีที เวลธ์ อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTW เปิดเผยว่า บริษัทยังมั่นใจรายได้ในปี 60 เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 1.89 พันล้านบาท โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/60 บริษัทมีมูลค่างานในมือ 837 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้เข้ามาในช่วงที่เหลือของปีนี้เป็นส่วนใหญ่ และส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้รายได้ไปถึงปี 62 โดยในปี 60 สัดส่วนรายได้ของบริษัทจะใกล้เคียงกับปีก่อนที่มาจากงานในต่างประเทศ สัดส่วน 70% และงานในประเทศ สัดส่วน 30%
นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าหางานใหม่เข้ามาเพิ่มเติม โดยเฉพาะงานโมดูล (Module) เพราะเริ่มเห็นปริมาณงานที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งบริษัทยังคงมุ่งเน้นในอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่ เช่น เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า ก๊าซและปิโตรเลียม ซึ่งได้มีการเจรจากับโครงการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้งานเข้ามาเพิ่มเติม แต่บริษัทยังต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง เพราะเมื่อภาวะอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว ผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดต่างต้องการเข้ามาชิงส่วนแบ่งให้ได้มากที่สุด
อีกทั้งบริษัทยังมองเห็นถึงโอกาสที่จะเข้าไปรับเหมาก่อสร้าง (EPC) งานโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรระยะ 2 ในช่วงครึ่งปีหลังเพิ่มเติมหลังจากมีการประกาศผล ซึ่งเป็นงานที่บริษัทเคยรับเมื่อปีก่อนจำนวน 10 เมกะวัตต์ เพื่อที่จะช่วยเข้ามาหนุนปริมาณงานของบริษัทให้มากขึ้นในอนาคต และมีรายได้เข้ามาเพิ่มเติม
นายโชติก กล่าวอีกว่า บริษัทยังมองหาการเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำเข้ามาเสริม โดยในเบื้องต้นได้เข้าไปร่วมในการจับฉลากโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรระยะ 2 ซึ่งคาดหวังจะได้ จำนวน 5 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมองว่ารายได้จากธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยให้บริษัทมีรายได้อื่น ๆ ที่เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ และบริษัทมีความชำนาญในการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มอยู่แล้ว จึงมองเห็นถึงโอกาสที่เข้าไปลงทุนเอง แม้ว่าราคารับซื้อไฟฟ้าจะอยู่ที่ 4.12 บาท/หน่วย ซึ่งต่ำกว่าการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม ระยะที่ 1
“เราก็ไม่สามารถคาดเดาได้แน่นอนว่าผลการจับฉลากจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งก็ต้องรอดูผลการจับฉลากคาดว่าจะออกมาในช่วงเดือนก.ค. หรือส.ค.นี้ ถ้าผลการจับฉลากแล้วได้เรามาเป็นหนึ่งในผู้ได้รับการคัดเลือก การลงทุนนี้ก็จะเป็นการลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มของบริษัทครั้งแรก”นายโชติก กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างการขอใบรับรองมาตรฐานคุณภาพ JIS-H Grade จาก Japan Steel-Fabrication Appraisal Organization (JSAO) ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการก่อสร้างโครงสร้างสร้างเหล็ก สำหรับอาคารขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทได้เริ่มดำเนินการขออนุญาตตั้งแต่เดือน มี.ค.59 และคาดว่าจะทราบผลการพิจารณาอย่างเป็นทางการในเดือน มิ.ย.60
หากบริษัทได้รับใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว จะต้องดำเนินการหาตัวแทนจัดจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น เพราะสินค้าที่เข้าไปในจำหน่ายประเทศญี่ปุ่นจะต้องมีเอกสารรับรองที่เป็นภาษาญี่ปุ่นประกอบ เพราะลูกค้าในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะนิยมใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นภาษาญี่ปุ่น และการได้รับใบอนุญาตดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายในญี่ปุ่นได้มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้เหล็กแปรรูปในโครงการสาธารณูปโภคของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับงานกีฬาโอลิมปิกปี 2020