RICH แจงเหตุใช้”งบภายใน”-เกณฑ์ตั้งค่าเผื่อหนี้ฯ หลังถูกค้านแผนฟื้นฟู
RICH เคลื่อนไหวหลังถูกค้านแผนฟื้นฟู อ้างปิดงบฯ ทันแค่งวด 31 ม.ค.60 ตะแบงตั้งสำรองหนี้ตามความเหมาะสม
สืบเนื่องจากกรณีที่บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ RICH ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 โดยอ้างว่าบริษัทเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยบริษัทใช้งบการเงินภายใน งวดเดือน มกราคม 2560 ในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีและที่ประชุมผู้ถือหุ้น
ขณะที่ในวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหนี้ของบริษัทบางส่วนแต่ถือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดตามมูลหนี้ จำนวน 7 ราย ได้ร่วมกันยื่นคำคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านใหม่ยาวถึง 13 ธันวาคม 2560 ตามรายละเอียดข่าวที่เคยทำการรายงานไปแล้วก่อนหน้านี้ https://www.kaohoon.com/content/162804
ล่าสุด บริษัทชี้แจงข่าวผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 6 มีนาคม 2560 ดังนั้น การใช้งบแสดงฐานะการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม 2560 ประกอบการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทจึงเป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 และฉบับแก้ไขเพื่อแสดงฐานะการเงินล่าสุดก่อนการยื่นฟื้นฟูกิจการ
ซึ่งในขณะนั้นบริษัทสามารถปิดบัญชีล่าสุดได้เพียงสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มกราคม 2560 บริษัทจึงต้องใช้งบการเงินดังกล่าวประกอบการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ อย่างไรก็ตาม งบการเงินสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มกราคม 2560 ได้รวมอยู่ในงบการเงินของบริษัท ประจำไตรมาส 1/2560 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 ที่ผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชีเรียบร้อยแล้ว และได้นำส่งเผยแพร่ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560
สำหรับเกณฑ์การบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของลูกหนี้การค้า และเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า บริษัทมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ โดยพิจารณาจากลูกหนี้ที่มีระยะเวลาในการค้างชำระเกินกำหนดเวลาหรือคาดว่าจะเก็บเงินไม่ได้ โดยใช้เกณฑ์การวิเคราะห์จำแนกตามอายุของลูกหนี้
รวมถึงกรณีที่ลูกหนี้มีเหตุการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้นและคาดว่าลูกหนี้อยู่ในสถานะที่มีความไม่แน่นอนที่จะสามารถชำระหนี้ให้แก่บริษัทได้ หรือลูกหนี้ที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย บริษัทจะทำการพิจารณาตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามความเหมาะสมและตามความเป็นจริง โดยไม่ต้องรอการพิจารณาตามระยะเวลาการค้างชำระที่เกินกำหนดตามการจำแนกอายุลูกหนี้ของบริษัท ทั้งนี้เพื่อให้งบแสดงฐานะทางการเงินของบริษัทแสดงข้อมูลมูลค่าสุทธิของลูกหนี้ที่ใกล้เคียงกับมูลค่าความเป็นจริง ซึ่งเป็นไปตามหลักการของมาตรฐานการบัญชี
ด้านกรณีที่บริษัทจ่ายเงินค่าสินค้าล่วงหน้าแล้วไม่ได้รับสินค้าตามสัญญา บริษัทจะเรียกเงินที่จ่ายชำระล่วงหน้าดังกล่าวที่คงค้างจากการส่งสินค้าคืนทั้งจำนวน โดยบริษัทจะดำเนินการติดตามทวงถามและปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติเช่นเดียวกับลูกหนี้และใช้เกณฑ์การตั้งประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเช่นเดียวกับลูกหนี้ที่กล่าวมาข้างต้นหลักเกณฑ์การบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญดังกล่าว บริษัทได้ยึดถือและปฏิบัติตามระเบียบนี้ของบริษัทมาโดยตลอด ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีแล้ว
สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ และผู้จำหน่ายสินค้าที่มีปัญหาการส่งมอบสินค้า บริษัทได้ดำเนินการส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการติดตามและเรียกร้องสิทธิการชำระเงินเพื่อมิให้บริษัทเสียผลประโยชน์ต่อไปแล้ว
ทั้งนี้บริษัทได้เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับเกณฑ์การบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญดังกล่าว ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 ตามหนังสือของบริษัทที่อ้างถึงแล้วเช่นกัน