HANA บวกแรงกว่า 5% โบรกฯ เพิ่มประมาณการกำไร-อัพเป้าสูง
HANA บวกแรงกว่า 5% นิวไฮตั้งแต่เข้าตลาดฯ ล่าสุด ณ เวลา 15.12 น. อยู่ที่ระดับ 51.25 บาท บวก 2.50 บาท หรือ 5.13% สูงสุด 51.75 บาท ต่ำสุด 48.75 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 482.65 ล้านบาท ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะซื้อ ปรับเพิ่มประมาณการกำไร-อัพเป้าเป็น 58 บาท จากเดิม 46 บาท คาดปีนี้โตแกร่งหลังยอดสั่งซื้อพุ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าราคาหุ้นบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ล่าสุด ณ เวลา 15.04 น. อยู่ที่ระดับ 51.25 บาท บวก 2.50 บาท หรือ 5.13% สูงสุด 51.75 บาท ต่ำสุด 48.75 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 481.25 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยโดยรวมบวก 0.43%
โดย บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำซื้อ HANA ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 58 บาท/หุ้น จากเดิม 46 บาท โดย Re-rate PE ขึ้นจาก 15 เท่า เป็น 17 เท่า เท่ากับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และปรับเพิ่มประมาณการกำไรปกติปี 60 ขึ้นเป็นเติบโต 33% เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน จากเดิมคาดโต 20% เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน หรือโต 2.73 พันลบ.
โดยคำสั่งซื้อที่ค่อนข้างแข็งแกร่งต่อเนื่องในไตรมาส 2/60 และครึ่งปีหลังปี 60 จากทั้งกลุ่มสินค้า PCBA และ IC ที่ปีนี้จะกลับมาเติบโตอย่างชัดเจน หลังจากที่เกิดการควบรวมกิจการหลายดีลในอุตสาหกรรม ในช่วงปีที่ผ่านมา และ HANA สามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งได้บางส่วน รวมถึงลูกค้าจะกลับมา Restocking อีกครั้ง ซึ่งเรียกได้ว่าแนวโน้มธุรกิจปีนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น และด้วยคำสั่งซื้อที่หนาแน่น ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้นจนเกือบเต็มกำลังการผลิตของโรงงานเดิม และช่วยเพิ่มการใช้กำลังการผลิตโรงงานใหม่อย่าง ลำพูน 2 และกัมพูชาได้มากขึ้น จึงเป็นบวกต่อทั้งรายได้และอัตรากำไรขั้นต้น
ทั้งนี้ปัจจุบันสัดส่วนสินค้าที่มีมาร์จิ้นต่ำอย่าง Computer ได้ลดลงมาอยู่ที่ 10% ของรายได้รวม จากในอดีตที่มีสัดส่วน 35% ของรายได้รวม เนื่องจากความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้บริษัทสามารถปรับ Mix ของสินค้า และเพิ่มสัดส่วนสินค้ากลุ่มอื่นมาทดแทนการลดลงของกลุ่ม Computer ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะ Telecom และ Sensor Telecom ที่เติบโตดีมากและมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 29% และ 8% ของรายได้รวม ตามลำดับ
โดยได้รับปัจจัยหนุนจากยอดขาย Smart phone ทั่วโลกในไตรมาส 1/60 เติบโตถึง 9% เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ในส่วนของกลุ่ม Auto และ Sensor Auto ที่มีสัดส่วนรวมกันราว 16% ของรายได้รวมน่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง แม้แนวโน้มยอดขายรถยนต์ทั่วโลกอาจโตไม่มากนักราว 1.5% เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน (อิงข้อมูลจาก IHS Markit) จากฐานสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง คาดจะเติบโตราว 15% – 20% เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน จากฟังก์ชั่นการใช้งานที่มากขึ้น การมีระบบอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค ทำให้มีความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
ทั้งนี้แนวโน้มการเติบโตดังกล่าวสอดคล้องกับที่ SIA รายงานยอดขาย Semiconductor ทั่วโลกล่าสุดเดือน มี.ค. อยู่ที่ US$30.9 พันล้าน โดยตัวเลขไตรมาส 1/60 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง 18% เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และ Gartner ได้คาดการณ์ยอดขาย Semiconductor ปีนี้จะเติบโต 12.3% เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน