กยท.ทุ่มเงิน 2.5 พันลบ. ปล่อยกู้ชาวสวน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

กยท.ทุ่มเงินกว่า 2.5 พันลบ. ปล่อยกู้ชาวสวน-ผู้ประกอบการ ปรับปรุงคุณภาพยางพารา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ตอบรับนโยบาย Thailand 4.0


นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2560 นี้ กยท. ได้จัดสรรงบประมาณจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(3) เงินให้กู้ยืม เป็นเงิน จำนวน 2,567 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้พร้อมให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กยท. และประสงค์จะกู้เงินทุนดังกล่าวเพื่อพัฒนาการทำสวนยาง พัฒนาคุณภาพยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางพารา และธุรกิจยางพารา ให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นได้แล้ว โดยสามารถยื่นคำขอกู้ได้ทันทีที่ กยท. ทุกจังหวัดและทุกสาขาทั่วประเทศ

ทั้งนี้ กยท. มั่นใจว่าสามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ในการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตนำไปสู่มาตรฐานการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ายาง ต่อยอดไปจนเกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ตอบรับนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งจะนำไปสู่การมีเสถียรภาพด้านราคายางในประเทศไทยต่อไป

สำหรับการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทเงินทุนหมุนเวียน โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.25 สำหรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ในระยะเริ่มต้น/พัฒนา คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 และในระยะก้าวหน้า คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ในส่วนของผู้ประกอบกิจการยาง กำหนดอัตราดอกเบี้ยออกเป็น 3 อัตรา คือ ดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบกิจการยางประเภทบุคคลธรรมดา ร้อยละ 2.5 ส่วนประเภทวิสาหกิจชุมชน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 และ ประเภทนิติบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4

“ด้านประเภทการกู้เพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่า ฯลฯ สำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.75 สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั้งในระยะเริ่มต้น/พัฒนา และระยะก้าวหน้า คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 และสำหรับผู้ประกอบกิจการยาง แบ่งเป็นประเภทบุคคลธรรมดา คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ประเภทวิสาหกิจชุมชน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 และ ประเภทนิติบุคคลคิด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.5” นายธีธัช กล่าว

อนึ่ง คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เห็นชอบหลักเกณฑ์จัดสรรเงินให้กู้ยืมกองทุนพัฒนายางพาราแก่เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง เป็นเงินงบประมาณที่มาจากมาตรา 49 (3) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุน ส่งเสริม และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง

เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการประกอบอาชีพการทำสวนยาง ค่าใช้จ่ายสำหรับปรับปรุงคุณภาพการผลิต การแปรรูป การตลาด อุตสาหกรรมการแปรรูปยางขั้นต้น อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง และอุตสาหกรรมไม้ยาง รวมไปถึงการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ซึ่งในภาพรวมเงินทุนกู้ก้อนนี้จะช่วยในการพัฒนายางพาราทั้งระบบ และการรักษาเสถียรภาพราคายางในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

Back to top button