งาน(ดี)เข้า PTTEP! เลขาสปก.ยื่น 2 แนวทางเอื้อผลิตปิโตรฯต่อเนื่อง
งาน(ดี)เข้า PTTEP! เลขาส.ป.ก.ชงรัฐแก้ปมกฎหมายหรือใช้ ม.44 เอื้อผลิตปิโตรเลียมต่อเนื่อง - ยันโครงการพลังงานลมไม่กระทบ
สืบเนื่องจากกรณีที่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP แจ้งว่า บริษัทได้หยุดผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในโครงการ S1 เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.60
ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงแจ้งให้ผู้รับสัมปทานบนบกทุกรายหยุดกิจกรรมการผลิตปิโตรเลียมที่มีการดำเนินการอยู่ในพื้นที่ส.ป.ก.เป็นการชั่วคราว
ล่าสุด นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เตรียมเสนอ 2 แนวทางต่อรัฐบาลให้พิจารณาเพื่อตัดสินใจแก้ปัญหาการใช้พื้นที่ส.ป.ก. โดยอาจจะมีการแก้กฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส.ป.ก. มาตรา 19 (12) ให้ศาลปกครองวินิจฉัยแต่ต้องอยู่ในกรอบการปฏิรูปที่ดิน หรือเสนอให้นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ส.ป.ก.เพื่อดำเนินโครงการอื่นได้
เนื่องจากไม่มีระเบียบในการคุมการสำรวจและการใช้พื้นที่ส.ป.ก.แล้ว ซึ่งรวมถึงทุกโครงการไม่ว่าจะเป็นทองคำ พลังงาน น้ำมัน หรือโครงการที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประเทศหรือประชาชน
“ส.ป.ก.เสนอไป 2 ทางขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบาย แต่ถ้าจะใช้ ม.44 ก็ควรทำเฉพาะแปลงเฉพาะพื้นที่ และไม่ควรกระทบการเกษตรทุกโครงการที่เกี่ยวกับเรื่องต้องรอและเริ่มใหม่ทั้งหมด”นายสมปอง กล่าว
ทั้งนี้ ส.ป.ก.ได้สั่งการไปยังสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) ให้ตรวจสอบและเก็บข้อมูลพื้นที่อย่างรอบคอบ และต้องรายงานให้ส.ป.ก.รับทราบ เพื่อชี้แจงรายละเอียดให้ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินแห่งชาติ (คปท.) รับทราบ ภายในวันที่ 15 มิ.ย.
โดยขณะนี้มีพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการสำรวจในเขต 4 จังหวัด จำนวน 7 บริษัท ซึ่งระหว่างนี้ต้องหารือทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสากกรรม คปท. คปจ. และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพราะบางพื้นที่มีพื้นเหมืองแร่และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ด้วย
ส่วนผู้ผลิตไฟฟ้าโครงการกังหันลม ที่ใช้พื้นที่ส.ป.ก.ยังคงดำเนินการโดยใช้ระเบียบเดิมตามมาตรา 30 (5) ต่อไปได้
อนึ่ง เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น
กรณีดังกล่าวส่งผลให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แจ้งผู้ประกอบการปิโตรเลียมหยุดการผลิตปิโตรเลียมที่มีการดำเนินการอยู่ในพื้นที่ส.ป.ก.เป็นการชั่วคราว ซึ่งปัจจุบันมีผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมที่เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ส.ป.ก.และพื้นที่ป่าไม้ รวม 7 บริษัท