กรมธนารักษ์เข้าข่ายเอื้อ “ผู้ทิ้งงานราชการ” รับงานบ้านประชารัฐพหลฯ11
พบพิรุธบริษัทรับเหมาฯ “บ้านประชารัฐพหลฯ11” คุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ ฟากกรมธนารักษ์เข้าข่ายเอื้อ "ผู้ทิ้งงานราชการ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้รายงานเกี่ยวกับโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ บนที่ดินราชพัสดุ ซอย พหลโยธิน 11 เขตพญาไท กรุงเทพฯ ถึงกรณีการโอนสิทธิการก่อสร้างและสิทธิการเช่าโครงการและกรณีคุณสมบัติของบริษัทผู้รับโอนนั้น
ทาง กรมธนารักษ์ ได้ออกมาชี้แจงว่า ตามเงื่อนไขทีโออาร์กำหนดให้โอนสิทธิการก่อสร้าง สิทธิการเช่าได้ โดยผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ตามเงื่อนไขที่กำหนดทุกประการ
ประกอบกับบริษัท ปักกิ่ง เออร์บัน-คอนสตรัคชั่น ยาไถ่ (ไทย) คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป จำกัด และบริษัทจู่โน่ ปาร์ค จำกัด จัดทำบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อพัฒนาโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐร่วมกัน บริษัท จูโน่ฯ จึงเข้ามารับโอนสิทธิจากบริษัทปักกิ่งฯ
สำหรับ การโอนสิทธิการก่อสร้างและสิทธิการเช่าดังกล่าวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อบริษัท จูโน่ฯ ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามคุณสมบัติที่กำหนด แต่บริษัทจูโน่ฯไม่เคยมีผลงานการก่อสร้าง ถือว่าคุณสมบัติยังไม่ครบถ้วน เนื่องจากเงื่อนไขทีโออาร์ กำหนดคุณสมบัติผู้เสนอโครงการ 2 ข้อคือ ต้องเป็นนิติบุคคลตามกฏหมายไทย มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท
อีกทั้ง ต้องเป็นผู้ไม่เคยทิ้งงานก่อสร้างของทางราชการ ซึ่งบริษัทจูโน่ฯมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขทีโออาร์ สามารถรับโอนสิทธิการก่อสร้าง สิทธิการเช่าได้
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนชมรมอนุรักษ์พญาไท ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยได้ยื่นหนังสือขอให้ทบทวนการก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ซอยพหลโยธิน 11 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการดังกล่าว ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การชี้แจงของกรมธนารักษ์ที่ระบุว่าบริษัทจูโน่ฯไม่เคยมีผลงานก่อสร้างถือว่าคุณสมบัติยังไม่ครบ แต่แค่ทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และไม่เคยเป็นผู้ทิ้งงานก่อสร้างของราชการ ตามทีโออาร์แค่ 2 ข้อนี้ ทำไมถึงทำให้บริษัทฯจูโน่มีคุณสมบัติได้
ขณะที่ก่อนหน้านี้ บริษัทฯจูโน่ นั้น มีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท และขาดทุนสะสมกว่า 43 ล้านบาท เพิ่งมาเพิ่มทุนเป็น 50 ล้านบาทในภายหลัง
โดยมี นายชนินทร์ จึงโสภณวิทวัช ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท สมบุญพัฒนา จำกัด มาเป็นผู้ถือหุ้นใหม่และถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเป็นการถือหุ้นในนามบุคคล ไม่ใช่เป็นการร่วมทุน
“นอกจากนี้ นายชนินทร์เคยเป็นผู้จัดการโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ของบริษัท กำจรกิจการก่อสร้าง จำกัด ซึ่งหลายโครงการเคยมีปัญหา อาทิ โครงการก่อสร้างหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พยบว่าราคาสูงเกินจริง
ซึ่งบริษัทกำจรกิจฯได้เลิกกิจการไปแล้ว และกระทรวงการคลังก็เคยประกาศให้บริษัทกำจรกิจฯเป็ฯผู้ทิ้งงานราชการเมื่อปลายปี 2559 ซึ่งบริษัทกำจรกิจฯก็มีที่อยู่เดียวกับบริษัทสมบุญพัฒนา คือ เลขที่ 141 ซอยอารีย์สัมพันธ์ 2 ถนนพหลโยธิน พญาไท กทม. ดังนั้น การพิจารณาคุณสมบัติอย่างผิวเผิน ไม่ดูข้อเท็จจริง อาจทำให้โครงการได้รับความเสียหายได้” ตัวแทนชมรมอนุรักษ์พญาไทกล่าว