DCORP ตั้งเป้ารายได้โตแตะ 1 พันลบ. ใน 5 ปี หลังปรับโครงสร้างธุรกิจ
DCORP ตั้งเป้ารายได้โตแตะ 1 พันลบ. ใน 5 ปี (60-64) หลังปรับโครงสร้างเป็นดำเนินธุรกิจพลังงาน-ด้านดิจิตอล อินโนเวชั่น ยันยังไม่ยกเลิกดีลร่วมทุนกับ YINGLI
นายอนิศ โอสถานุเคราะห์ กรรมการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีมีเตอร์ คอร์ปอดรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DCORP เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า (60-64) จะเติบโตแตะระดับ 1,000 ล้านบาท หลังจากปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจแยกเป็น 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจด้านพลังงาน และธุรกิจด้านดิจิตอล อินโนเวชั่น
สำหรับธุรกิจดิจิตอล บริษัทคาดจะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยจะดำเนินการภายใต้บริษัท ดีมีเตอร์ อินโนเวชั่น จำกัด (DINNOVATION) ซึ่งได้มีการเปลี่ยนชื่อจากบริษัท ดีมีเตอร์ มีเดีย (Dmedia) เดิมประกอบธุรกิจเคเบิลทีวี ผ่านดาวเทียม
โดยจะมุ่งเน้นการแสวงหาคอนเทนท์ใหม่ๆ และจะรับรู้รายได้จากการเข้าร่วมของเหล่าดีเจ ผู้ที่สนใจเข้าร่วม LIVE และดาวน์โหลดสติกเกอร์ของขวัญ เป็นต้น ซึ่งบริษัทคาดหวังจะมีส่วนแบ่งทางการตลาด ของธุรกิจ Live TV Platform ราว 50% หรือประมาณ 1,700 ล้านบาท ภายหลังจากที่มีการเปิดให้บริการ จากปีก่อนมูลค่าการตลาดดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 3,400 ล้านบาท ขณะที่ล่าสุด บริษัทได้ลงนามเซ็นสัญญาซื้อขายหุ้นเป็นที่เรียบร้อย ในการเข้าถือหุ้นในบริษัท บลูฟีนิกซ์ จำกัด ในสัดส่วน 30% ด้วยวงเงินลงทุนทั้งหมด 74.37 ล้านบาท และมีการรับรู้รายได้เข้ามาแล้ว
พร้อมกันนี้แนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าวต่อจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างทดลองระบบ Live TV Platform ผ่าน Internet ซึ่งสามารถใช้ได้ทุกอุปกรณ์การสื่อสาร และทุกระบบปฎิบัติการ ไม่ว่าจะเป็น Android ,ios ,PC คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ในกลางเดือนก.ค.60 นอกจากนี้ยังตั้งเป้าผู้ดาวโหลดแอพลิเคชั่น จำนวน 2-3 แสนรายภายในปีนี้ และวางบลงทุนด้านการตลาดไว้ราว 10-15 ล้านบาท อีกทั้งยังมองโอกาสในการขยายไปยังประเทศกลุ่ม CLMV ด้วยในอนาคต
ส่วนธุรกิจด้านพลังงาน ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ดีมีเตอร์ พาวเวอร์ จำกัด (DPOWER) จะเน้นไปที่ 2 กลุ่มหลัก คือ ธุรกิจพลังงานทดแทน และธุรกิจ Energy Storage และพลังงานไฮบริด ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้สม่ำเสมอให้กับบริษัทในระยะยาว จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เป็นสัญญาระยะยาว
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชีวภาพหรือไบโอแก๊ส ที่จ.สุพรรณบุรี ขนาดกำลังการผลิต 4.9 เมกะวัตต์ คาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงกลางปี 61 ส่วนโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศฟิลิปปินส์ ที่จะเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 40% ขนาด 50 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอความชัดเจนจากรัฐบาลฟิลิปินส์ หลังจากได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าใหม่
ขณะที่ธุรกิจติดตั้งระบบประหยัดพลังงานในอาคารหรือ ธุรกิจ ESCO ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อรับงานดังกล่าวเพิ่มอีก ราว 2-3 ราย คาดจะเห็นความชัดเจนได้อย่างน้อย 1 ราย ภายใน 2 เดือนนี้ จากก่อนหน้านี้ได้เข้ารับงานปรับปรุงและเปลี่ยนหลอดไฟให้เป็นหลอดไฟ LED เปลี่ยนระบบทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูงในอาคารให้กับห้างสรรพสินค้าไอที คาดจะสามารถรับรู้รายได้ในปีนี้ราว 100 ล้านบาท
นอกจากนี้การร่วมทุนกับบริษัท YINGLI ซึ่งเป็นพันธมิตรจากจีน ยืนยันว่ายังไม่มีการยกเลิกดีล แต่เนื่องจากในช่วงที่ผ่าน YINGLI มีปัญหาทางด้านการเงินทำให้บริษัทตกอันดับจากการเป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์เซล์อันดับ 1 ของจีน โดยบริษัทจะกลับมาพิจารณาร่วมทุนอีกครั้ง หลังจากที่ YINGLI มีผลการดำเนินงานดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดีบริษัทอาจจะพิจารณาลงทุนกับผู้ร่วมทุนรายอื่นหากมีผลตอบแทนที่ดีกว่า
ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดในมืออยู่ราว 500 ล้านบาท และยังมีความสามารถในการกู้ยืมจากสถาบันทางการเงินได้อีกมาก จากปัจจุบันมีหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ในระดับต่ำที่ 0.05 เท่า ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการลงทุนที่จะเกิดขึ้น