GPSC ลุยโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่นเต็มสูบ จ่อ COD ปลายปีนี้ 20MW

GPSC ลงทุนโซลาร์ฟาร์ม "อิชิโนเซกิ โซลาร์ พาวเวอร์ 1 GK" ขนาด 20.80 เมกะวัตต์ในญี่ปุ่น ฟากผู้บริหาร "เติมชัย" แย้มศึกษาโครงการแห่งที่ 2 ขนาด 15 เมกะวัตต์ เล็งสรุปภายในปีนี้


นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า บริษัท โกลบอลเพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในเครือปตท. เข้าลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ที่ประเทศญี่ปุ่น

โดยมีขนาดกำลังการผลิต 20.80 เมกะวัตต์ (MW) คาดว่าผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงปลายปี 2560 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกที่ลงทุนในประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ การเข้าลงทุนในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมีกระแสพลังงานหมุนเวียน ซึ่งประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมและมุ่งมั่นในพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งมีการเปิดเสรีพอสมควร ประกอบกับเป็นจังหวะที่ดีที่มีใบอนุญาตจึงได้เข้าลงทุนในประเทศญี่ปุ่น

“น่าจะเป็นโอกาสในการเติบโต จากการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage System (ESS) จะกลายเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจพลังงาน เราจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง มากกว่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ” นายเทวินทร์ กล่าว

สำหรับประเทศญี่ปุ่น การนำเข้าพลังงานมีราคาที่สูง ทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่าปกติ อีกทั้งการมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทางประเทศญี่ปุ่นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม ประกอบกับจะต้องมีการสร้างความเข้าใจต่อประชาชน เพื่อไม่ให้มีความรู้สึกต่อต้าน และต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่ลดลง จึงได้เข้าลงทุนในครั้งนี้

 

ด้าน ดร.เติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้ชื่อโครงการอิชิโนเซกิ โซลาร์ พาวเวอร์ 1 จีเค (ICHINOSEKI SOLAR POWER 1 GK) โดยแบ่งเป็นพื้นที่ A และพื้น B ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จไปประมาณ 30% คาดว่าจะ COD ในช่วงไตรมาส 4/60 นี้

โดยโครงการนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 560 ไร่ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท Tohoku Electric Power ซึ่งเป็นบริษัทสาธารณูปโภคญี่ปุ่น ในอัตราค่าไฟฟ้าระบบ FiT ประมาณ 40 เยน หรือประมาณ 12 บาทต่อหน่วย อายุสัญญา 20 ปี และมีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ประมาณ 10%

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มแห่งที่ 2 ขนาดกำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะมีการตัดสินใจลงทุนภายในปี 2560 นี้ เบื้องต้นเงินลงทุนน่าจะน้อยกว่า 10,000 ล้านเยน หรือน้อยกว่า 3,000 ล้านบาท จากโครงการแรก ขนาดกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ10,000 ล้านเยน หรือกว่า 3,000 ล้านบาท

ขณะที่การพัฒนา ESS จะช่วยลดการสร้างโรงไฟฟ้าในระยะยาว ซึ่งราคาแบตเตอรี่ปัจจุบันค่อนข้างสูง อีกทั้งการพัฒนาครั้งนี้ เพื่อเป็นพลังงานสำรองสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนให้มีการเก็บไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่ก่อน

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างหาพาร์ตเนอร์ในอาเซียนเพื่อร่วมทดสอบตลาดและสร้างโรงงาน ขนาด 100 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เงินลงทุนประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ โดย GPSC ได้รับสิทธิในการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เพื่อทำตลาดระบบกักเก็บพลังงานในประเทศไทยรวมถึงภูมิภาคอาเซียน ภายในปี 2562

Back to top button