THAI จ่อปิดดีลร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาปลายปี 60

THAI จ่อปิดดีลร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภากับ “แอร์บัส” ปลายปี 60 คาดรับรู้รายได้จากศูนย์ซ่อมบำรุงเมื่อก่อตั้งแล้วเสร็จราว 1.2 พันลบ./ปี


นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (TG MRO Complex Development) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งการบินไทยจะร่วมลงทุนกับ บริษัท แอร์บัส นั้น จะศึกษารายละเอียดแผนงานการลงทุนแล้วเสร็จภายในปลายปี 60

ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนอยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสม โดยจะเสนอเข้าสู่ขั้นตอนการร่วมลงทุน (PPP) โดยประเมินว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2564 ซึ่งแผนธุรกิจจะสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนเครื่องบินที่ทุกสายการบินจะมีการจัดหาเพิ่ม โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย จะต้องทำศักยภาพของศูนย์ซ่อมให้รองรับได้

สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรนั้น การบินไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ ครอบคลุม ฝ่ายช่าง นักบิน ทั้งหมด

พร้อมกันนี้ จะเปิดกว้างให้หลายๆ บริษัท สามารถเข้ามาร่วมได้ รวมถึงบริษัท โบอิ้ง ซึ่งทางโบอิ้งมีโครงการที่จะทำ MOU ร่วมกับการบินไทยในเรื่องการฝึกอบรม ด้านทรัพยากรบุคคล เพื่อรองรับรับพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ครอบคลุมทุกด้าน

ด้านเรืออากาศโทรณชัย วงศ์ชะอุ่ม ผู้อำนวยการฝ่ายซ่อมใหญ่ เครื่องยนต์อากาศยาน THAI คาดว่าเมื่อจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (TG MRO) จะสามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจนี้ประมาณ 1,200 ล้านบาท/ปี และ ในปีต่อๆไปรายได้จะโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันการบินไทยมีรายได้จากการซ่อมบำรุงลูกค้าภายนอก ประมาณ 1,000 -2,000 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาในเฟสแรกจะใช้พื้นที่ประมาณ 250 ไร่ วงเงินลงทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยจะมุ่งเน้นการซ่อมบำรุงเครื่องบิน Generation เช่น แอร์บัส A380 เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันศักยภาพในการซ่อมบำรุงใหญ่เครื่องบินรุ่นใหม่ๆ อาทิ แอร์บัส 380 จะอยู่ที่บริษัทแอร์บัสแห่งเดียวในโลก

ดังนั้น เป้าหมายของ TG MRO อู่ตะเภา จะเป็นศูนย์ซ่อมที่เป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านการทำรายได้ โดยจะนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาให้บริการซ่อมบำรุง เพื่อเพิ่มศักยภาพ ขีดความสามารถและความรวดเร็วในการซ่อม

โดยประเมินว่าจะรองรับการซ่อมบำรุงได้ 50-60 ลำ/ปี ซึ่งเครื่องบิน Generation จะเข้าสู่วงรอบการซ่อมบำรุงใหญ่ในอีก 5-6 ปีข้างหน้าพอดี ซึ่งการบินไทยคาดว่า จะได้ส่วนแบ่งการตลาด การซ่อมเครื่องบินขนาดใหญ่ลำตัวกว้าง ที่เป็น Generation ทั้งหมด เพราะประเทศอื่นๆในภูมิภาคยังไม่มี ศูนย์ MRO รองรับ

Back to top button