พ.ร.บ.ใหม่ชี้ เจ้าหนี้ห้ามยึดทรัพย์ลูกหนี้รายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท
ราชกิจจานุเบกษาประกาศพ.ร.บ.ใหม่ ชี้ เจ้าหนี้ห้ามยึดทรัพย์ลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.60 เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 โดยมีใจความสำคัญเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี มาตรา 302 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี
สำหรับทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี ประกอบด้วย เบี้ยเลี้ยงชีพซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ ส่วนเงินรายได้เป็นคราว ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกได้ยกให้เพื่อเลี้ยงชีพนั้น ให้มีจำนวนไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท หรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
โดย เงินเดือน,ค่าจ้าง,บำเหน็จ,เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่น ในลักษณะเดียวกันของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยราชการ และเงินสงเคราะห์,บำนาญ หรือบำเหน็จที่หน่วยราชการได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น และพนักงาน,ลูกจ้าง หรือคนงาน
นอกจากนี้ ยังมีนายจ้างหรือบุคคลอื่นใดได้จ่ายให้แก่บุคคล หรือคู่สมรส หรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท หรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
รวมทั้งบำเหน็จหรือค่าชดเชยหรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของบุคคลตาม, เป็นจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท หรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร และเงินฌาปนสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับอันเนื่องมาแต่ความตายของบุคคลอื่น เป็นจำนวนตามที่จำเป็นในการดำเนินการฌาปนศพตามฐานะของผู้ตายที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร เป็นต้น
ด้าน น.ส. รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฯ ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขครั้งสำคัญในภาคบังคับคดี เป็นการปฏิรูปใหม่ทั้งหมดในส่วนการบังคับคดี เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนการบังคับคดีมีการใช้มานานกว่า 20 ปี จึงต้องปรับให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
ขณะที่ ในส่วนของทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี มุ่งไปถึงการดำรงชีพของลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตามความจำเป็นและความเหมาะสม ตามสมควรกับฐานะของลูกหนี้ อย่างเช่น กรณี เบี้ยเลี้ยงชีพ เดิม เบี้ยเลี้ยงชีพที่ไม่สามารถยึดบังคับคดีมีจำนวนเงินไม่เกิน 10,000 บาท แต่ปัจจุบันนี้สภาพเศรษฐกิจก็เปลี่ยนไปมาก ตามมาตรา 302 (1) จึงปรับเป็นไม่เกิน 20,000 บาท
ดังนั้น ถ้าลูกหนี้มีเงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท จะไม่ถูกบังคับคดี เพราะจะบังคับคดีได้เฉพาะส่วนที่เกิน 20,000 บาท เท่านั้น เพราะ คำว่า เบี้ยเลี้ยงชีพ หมายถึง เงินเดือน หรือเงินที่ได้เป็นคราวๆก็ได้ ทั้งนี้ พ.ร.บ.นี้ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.60 เป็นต้นไป