รายย่อยงัด ม.100 จี้ IFEC จัดประชุมวิฯ หลังก.พาณิชย์ไม่รับจดบอร์ด
รายย่อยงัด ม.100 แห่งพ.ร.บ.บริษัทมหาชน พ.ศ.2535 จี้ IFEC เร่งจัดประชุมวิสามัญครั้งใหม่ หลังก.พาณิชย์ไม่รับจดทะเบียนจัดตั้งกรรมการบริษัท
นายจักกริช ประชุม ทนายความตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เปิดเผยว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อย IFEC ยังเตรียมทำหนังสือถึงบริษัท IFEC เพื่อขอให้คณะกรรมการบริษัทเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นตามที่ได้มีการระบุไว้ในมาตรา 100 แห่งพ.ร.บ.บริษัทมหาชน พ.ศ.2535 เพื่อให้บริษัทได้มีการพิจารณาเลือกตั้งคณะกรรมการให้ครบถ้วนและถูกต้อง
โดยมาตรา 100 แห่งพ.ร.บ.บริษัทมหาชน พ.ศ.2535 ระบุว่า ผู้ถือหุ้นซึ่งมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด หรือผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าคน ซึ่งมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดจะเข้าชื่อกันทำหนังสือขอให้คณะกรรมการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องระบุเหตุผลในการที่ ขอให้เรียกประชุมไว้ให้ชัดเจนในหนังสือดังกล่าวด้วย ในกรณีเช่นนี้คณะกรรมการต้องจัดให้มี การประชุมผู้ถือหุ้นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันได้รับหนังสือจากผู้ถือหุ้น
อีกทั้งควรมีการพิจารณาถึงสาเหตุที่ล่าช้าในการส่งงบการเงิน การแก้ปัญหาผิดนัดชำระหนี้สินต่างๆ ตลอดจนการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีประจำปี 2560 อีกด้วย เพื่อทำให้บริษัทไม่เข้าข่ายที่จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ และสามารถปลดเครื่องหมาย SP ได้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ถือหุ้นรายย่อยได้โดยเร็ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาสูงถึง 90 วัน ซึ่งจะทำให้ความล่าช้าที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้นจนไม่อาจควบคุมได้
โดยผู้ถือหุ้นรายย่อย IFEC ได้หารือร่วมกันในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อหาทางออก หลังจากที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ไม่รับจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงกรรมการชุดใหม่ของบริษัทเนื่องจากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 ในวันที่ 2 พ.ค.60 ได้ทำการเลือกตั้งคณะกรรมการแบบคะแนนเสียงสะสม (Cumulative Voting) เพื่อเลือกตั้งนายธีติพันธ์ เทพผดุงพร พลตำรวจเอกสุนทร ซ้ายขวัญ และนายปริญญา วิญญูรัตน์ เป็นกรรมการของบริษัทจึงเป็นการลงคะแนนที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทข้อ 20 และมาตรา 70 แห่งพ.ร.บ.บริษัทมหาชน พ.ศ.2535 ส่งผลให้นายทะเบียนได้มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.60
“ที่ผ่านมาผู้ถือหุ้นรายย่อยได้มีการร้องเรียนสำนักงานก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ มาแล้วหลายครั้ง พร้อมแสดงพลังบริสุทธิ์ยกมือคัดค้านการเลือกตั้งกรรมการด้วยวิธีการนับคะแนนแบบ Cumulative Voting ซึ่งเจ้าหน้าที่ก.ล.ต.ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมก็เห็น มาถึงวันนี้กระทรวงพาณิชย์ไม่รับจดทะเบียนกรรมการชุดใหม่
พร้อมระบุชัดเจนว่าการใช้วิธีการดังกล่าว ไม่เป็นไปตามข้อข้อบังคับของบริษัทและกฎหมาย ถึงเวลาแล้วที่สำนักงานก.ล.ต. ต้องออกมาแสดงบทบาทของตัวเอง โดยการเร่งสั่งให้ IFEC จัดประชุมผู้ถือหุ้น คืนอำนาจให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อย ในการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัทฯ นำไปสู่การปลดเครื่องหมาย SP ไม่ใช่ปล่อยลอยแพ เหมือนที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ที่ยังคงไร้ทางออก และอาจทำให้ IFEC ถูกเพิกถอนออกจากตลาด สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อย และกระทบความเชื่อมั่นการลงทุนตลาดทุน”ทนายความตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย IFEC กล่าวในที่สุด
ขณะที่เมื่อวันที่ 18 ก.ค.60 ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ IFEC ได้ทำหนังสือถึงนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และนางสาวเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น
โดยประเด็นที่ 1. ได้มีการสั่งการให้ IFEC มีการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อเลือกตั้งกรรมการใหม่ให้ครบตามจำนวนที่ว่างลงหรือไม่ การประชุมที่จะมีขึ้นใหม่จะดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการด้วยวิธีในรูปแบบใด และได้สั่งให้จัดประชุมภายในระยะเวลากี่วัน หลังจากที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ไม่รับจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงกรรมการชุดใหม่ของบริษัทฯ เนื่องจากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 ในวันที่ 2 พ.ค.60 ได้ทำการเลือกตั้งคณะกรรมการแบบคะแนนเสียงสะสม (Cumulative Voting) ซึ่งถือเป็นการผิดข้อบังคับและกฎหมาย
ส่วนประเด็นที่ 2. การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 14 ก.พ.60 ที่ใช้วิธีการนับคะแนนเลือกตั้งกรรมการแบบแบบคะแนนเสียงสะสม (Cumulative Voting) เช่นเดียวกับวันที่ 2 พ.ค.60 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ไม่รับจดทะเบียน ในฐานะที่สำนักงาน ก.ล.ต.เป็นผู้กำกับดูแลบริษัทให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) จะดำเนินการอย่างไรต่อกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งด้วยวิธีที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทข้อ 20 และมาตรา 70 แห่งพ.ร.บ.มหาชน พ.ศ.2535