ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง “เสริมสร้าง พาวเวอร์ฯ” จ่อเทรด mai ภายในปีนี้

ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง "เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น" หรือ SSP ผู้ประกอบธุรกิจผลิต-จำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งใน-ตปท. จ่อเทรด mai ภายในปีนี้ หวังระดมทุนขยายธุรกิจพลังงานทดแทน-ชำระหนี้ โดยมี บล.กสิกรไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน


นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บล.กสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SSP เปิดเผยว่า ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และนับหนึ่งแบบไฟลิ่ง ของ บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อก.ล.ต. เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 276,375,000 หุ้น

สำหรับหุ้นที่จะเสนอขาย IPO ครั้งนี้ ประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดย บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำนวนไม่เกิน 230,375,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (Unity I. Capital Limited) จำนวนไม่เกิน 46,000,000 หุ้น รวมคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 30 ของหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้

ทั้งนี้ ภายหลังที่สำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และมีผลใช้บังคับแล้ว กลุ่มบริษัทฯ จะกำหนดวันเสนอขายหุ้น IPO ให้แก่ประชาชนและคาดว่าจะนำ บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ภายในปีนี้ เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประกอบธุรกิจในกลุ่มบริษัทฯ และชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน

ปัจจุบัน บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ฯ มีทุนจดทะเบียน 922,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 922,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนที่เรียกชำระแล้วทั้งสิ้น 691,625,000 บาท

อนึ่ง เสริมสร้าง พาวเวอร์ฯ เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะโฮลดิ้ง คอมปานี ที่เข้าลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 2 กลุ่มธุรกิจคือ 1. ธุรกิจลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และ 2. ธุรกิจลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เป็นต้น

ด้านนายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SSP เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 1 โครงการนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ได้แก่ โครงการ ‘เสริมสร้าง โซลาร์’ ในอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ที่ดำเนินการผ่านบริษัท เสริมสร้างพลังงาน จำกัด หรือ SPN ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นร้อยละ 100 โดย SPN ได้ทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 1 สัญญา ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญา 40 MW กำลังการผลิตติดตั้ง 52 เมกะวัตต์ (MW) โดยเป็นสัญญาแบบ Non-Firm มีอายุสัญญา 5 ปี และต่ออายุได้คราวละ 5 ปี ซึ่งได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 6.5 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 ปีนับจากวันที่เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์

ขณะเดียวกัน ณ ปัจจุบันบริษัทฯ มีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 3 โครงการ ผ่าน SEG (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100) ซึ่งได้แก่ โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการฮิดะกะ ภายใต้การดำเนินงานของ SSH ด้วยสัดส่วนเงินลงทุนร้อยละ 86.9 ในจังหวัดฮอกไกโด คาดว่าจะเริ่ม COD ภายในไตรมาส 1/61 โดยมี Hokkaido Electric Power Company Limited  ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าภาคเอกชนในเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการฮิดะกะในปริมาณซื้อขายตามสัญญารวม 17 MW กำลังการผลิตติดตั้ง 21 MW โดยมีอายุสัญญา 20 ปี และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 40 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงคงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี

โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการยามากะ ภายใต้การดำเนินงาน GSSE ด้วยสัดส่วนเงินลงทุนประมาณร้อยละ 90.0 ในจังหวัดคุมาโมโต้ ดาดว่าจะเริ่ม COD ภายในไตรมาส 2/63 โดยมี Kyushu Electric Power Co., Inc  ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าภาคเอกชนในเมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการยามากะ ในปริมาณซื้อขายตามสัญญารวม 30 MW กำลังการผลิตติดตั้ง 34.5 MW โดยมีอายุสัญญา 20 ปี และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงคงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี

และ (2) โครงการโซเอ็น ภายใต้การดำเนินงาน ZOUEN ด้วยสัดส่วนเงินลงทุนประมาณร้อยละ 100.0 ในจังหวัดคุมาโมโต้ ดาดว่าจะเริ่ม COD ภายในไตรมาส 4/61 โดยมี Kyushu Electric Power Co., Inc ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าภาคเอกชนในเมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการยามากะ ในปริมาณซื้อขายตามสัญญารวม 6 MW กำลังการผลิตติดตั้ง 7.8 MW โดยมีอายุสัญญา 20 ปี และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงคงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าทำสัญญาที่สำคัญจำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 47.5 MW ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญารวม 40 MW รวมทั้งกลุ่มบริษัทฯ ร่วมกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ได้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 โดยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน โครงการดังกล่าวได้ผ่านการคัดเลือกโดยวิธีการจับสลากจำนวน 1 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 5.0 MW

“เราให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนและพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน  โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการลงทุนและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าครบ 200 MW ภายในปี 2563 เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำแห่งเอเชีย โดยจะเป็นผู้ผลิตและจัดหาพลังงานที่ยั่งยืนควบคู่กับการส่งเสริมสนับสนุนสิ่งแวดล้อมที่สะอาดอย่างมั่นคงเพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคม” นายวรุตม์ กล่าว

ด้านนางสาวธัณฐภรณ์ ไกรพิสิทธิ์กุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SSP เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีจุดเด่นด้านความเชี่ยวชาญในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพและสม่ำเสมอ รวมถึงให้ความสำคัญกับการเลือกสถานที่ตั้งโครงการที่จะต้องมีค่าความเข้มของแสงอาทิตย์ในระดับที่เหมาะสม มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ดี รวมถึงไม่มีข้อจำกัดด้านการเชื่อมโยงระบบเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้า นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีทีมบริหารที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Back to top button