“เจ้าพระยามหานคร” กลับมายื่นไฟลิ่งขาย IPO 250 ล้านหุ้น จ่อเข้าเทรด SET
"เจ้าพระยามหานคร" กลับมายื่นไฟลิ่งขาย IPO 250 ล้านหุ้น จ่อเข้าเทรด SET โดยมี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หวังระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจ-คืนเงินกู้-เป็นทุนหมุนเวียน
บริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 250 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาท/หุ้น โดยมี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
โดยบริษัทมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจ ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ทั้งนี้ บริษัทฯมีความประสงค์จะนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (SET)
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท และทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 750 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 1,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีบริษัทย่อยทั้งหมด 3 บริษัทคือ บริษัท พระยาพาณิชย์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (PPP) บริษัท สยามมหานครพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (SMP) บริษัท ไทยสยามนครพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (TSN)
ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท คือ ตระกูลแพทยานันท์ ถือหุ้นในสัดส่วน 60% และหลังจากการเสนอขายหุ้น IPO จะลดสัดส่วนลงเหลือ 45% ขณะที่บริษัท ทเวลฟ์ มัลติพลาย แอสเซท จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วน 40% จะลดสัดส่วนหุ้นเหลือ 30%
ทั้งนี้การประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ แบ่งเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ (1) กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย เน้นประเภทคอนโดมิเนียมเป็นหลักและทำเลแนวเส้นทางรถไฟฟ้า บริษัทในเครือที่ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ CMC ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้ระดับกลางถึงช่วงต้นของกลุ่มที่มีรายได้ระดับสูง และ PPP ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าที่มีรายได้ระดับกลาง
(2) กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เช่า ดำเนินธุรกิจโดย SMP โดยมีอาคารซีเอ็มซี ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานให้เช่าสูง 7 ชั้น ขนาดพื้นที่ 3,983 ตารางเมตร ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่จะให้เช่าแก่กลุ่มบริษัทฯ เพื่อใช้เป็นสำนักงาน รวมทั้งมีโครงการอาคารชุด 8 ชั้น “โครงการชาโตว์ อินทาวน์ รัชดา 36” และอยู่ระหว่างการพัฒนาในอนาคต คือ “โครงการชาโตว์ อินทาวน์ รัชดา 36-2”
(3) กลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ดำเนินธุรกิจโดย TSN ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรับเหมาก่อสร้างให้โครงการที่พัฒนาโดย CMC, PPP และ SMP เป็นหลัก และในอนาคตอาจรับงานภายนอกด้วยเมื่อมีความพร้อมทั้งในเรื่องฐานเงินทุนและบุคลากร
โดยบริษัทมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เตรียมพัฒนาภายใน 2 ปี ได้แก่ แบงค์คอก ฮอไรซอน ติวานนท์ ขนาด 422 ยูนิต มูลค่า 1,265 ล้านบาท เปิดขายไตรมาส 4/60, แบงค์คอก ฮอไรซอน สุขสวัสดิ์ ขนาด 1,019 ยูนิต มูลค่า 1,848 ล้านบาท เปิดขายไตรมาส 1/61, แบงค์คอก ฮอไรซอน นวมินทร์-ศรีบูรพา ขนาด 837 ยูนิต มูลค่า 1,833 ล้านบาท เปิดขายไตรมาส 3/61, แบงค์คอก ฮอไรซอน ไลท์ @ รามคำแหงแคมป์ปัส ขนาด 126 ยูนิต มูลค่า 263 ล้านบาท เปิดขายไตรมาส 4/60, แบงค์คอก ฮอไรซอน ไลท์ @ บางนา 36 ขนาด 926 ยูนิต มูลค่า 1,547 ล้านบาท เปิดขายไตรมาส 2/61 ,
รวมทั้งแบงค์คอก เฟลิซ ปิ่นเกล้า ขนาด 327 ยูนิต มูลค่า 643 ล้านบาท เปิดขายไตรมาส 1/61, แบงค์คอก ฮอไรซอน @ เพชรเกษม 48 ขนาด 741 ยูนิต มูลค่า 1,382 ล้านบาท เปิดขายไตรมาส 2/60 , ชาโตว์ อินทาวน์ ดีลักซ์ ปิ่นเกล้า ขนาด 237 ยูนิต มูลค่า 622 ล้านบาท เปิดขายไตรมาส 3/61
ขณะที่แบงค์คอก ฮอไรซอน วงศ์สว่าง ขนาด 615 ยูนิต มูลค่า 1,544 ล้านบาท เปิดขายไตรมาส 2/61, ชาโตว์ อินทาวน์ เกษตร แคมปัส ขนาด 320 ยูนิต มูลค่า 682 ล้านบาท เปิดขายไตรมาส 3/61, ชาโตว์อินทาวน์ @เสนาสเตชั่น ขนาด 445 ยูนิต มูลค่า 928 ล้านบาท เปิดขายไตรมาส 4/61 , ชาโตว์อินทาวน์ รัชดา 36-2 ขนาด 329 ยูนิต มูลค่า 571 ล้านบาท เปิดขายไตรมาส 2/61
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ในงวดปี 59 อยู่ที่ 2,090.75 ล้านบาท สูงขึ้นจากปี 58 ที่มีรายได้ 1,419.30 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิสูงขึ้นเป็น 156.21 ล้านบาท จากปี 58 อยู่ที่ 47.13 ล้านบาท
โดยรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์เติบโต 57.48% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการที่สร้างเสร็จปลายปี 58 ทยอยโอนและรับรู้รายได้ค่อนข้างมากในปี 59 นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่สร้างเสร็จและโอนในปี 59 เพิ่มเติมอีก
ขณะที่ไตรมาส 1/60 สิ้นสุด 31 มี.ค.60 บริษัทมีรายได้ 468.01 ล้านบาท สูงขึ้นจากไตรมาส 1/59 ที่มีรายได้ 368.13 ล้านบาท
ส่วนกำไรอยู่ที่ 32.08 ล้านบาท จาก 22.62 ล้านบาท โดยรายได้เพิ่มขึ้น 16.90% ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากโครงการที่สร้างเสร็จช่วงปลายปี 59 บางส่วนมีการโอนและรับรู้รายได้ในช่วงต้นปี 60 นอกจากนี้โครงการอื่นๆ ของกลุ่มบริษัทก็ยังสามารถขายและโอนได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทหลังหลังหักเงินสำรองต่างๆ ทุกประเภท