TTA ปรับแผนช่วง 3 ปี ลดสัดส่วนธุรกิจเดินเรือ-ดันธุรกิจอาหาร หลังศก.ผันผวนหนัก

TTA ปรับแผนช่วง 3 ปี ลดสัดส่วนธุรกิจเดินเรือ-ดันธุรกิจอาหาร หลังศก.ผันผวนหนัก - อยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการอาหารและน้ำจากฝรั่งเศส คาดได้ข้อสรุปเร็วๆนี้


นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เปิดเผยว่า บริษัทปรับโครงสร้างธุรกิจในระยะ 3 ปีนี้ด้วยการลดสัดส่วนธุรกิจเดินเรือ หรือกลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง และธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งของ บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์จำกัด (มหาชน) มาที่สัดส่วนรวมกัน 40-50% ภายในปี 62 จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้หลักรวมกันราว 60% และหันมาเพิ่มสัดส่วนจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมาที่ระดับ 20-30% จากที่มีสัดส่วนไม่ถึง 10% ในปัจจุบัน

ขณะที่จะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มเติมจากธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำ รวมทั้งยังมีการลงทุนธุรกิจ Start up ซึ่งปีนี้ลงทุนไปแล้ว 300 ล้านบาท เหตุผลหลักมาจากธุรกิจหลักทั้งสองธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดินเรือขึ้นกับสภาวะตลาดโลก ทำให้ผลประกอบการของบริษัทผันผวนไปตามเศรษฐกิจมากเกินไป บริษัทจึงต้องการปรับลดสัดส่วนลง และหันมาเพิ่มรายได้จากธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบภาวะเศรษฐกิจมากนัก และคาดว่าจะสร้างความแข็งแกร่งของผลประกอบการให้บริษัทได้ดี

ด้านนายเฉลิมชัย กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการธุรกิจอาหาร และธุรกิจน้ำที่มี SUEZ Environnement จากฝรั่งเศสเป็นพันธมิตร คาดว่าจะสรุปได้ในเร็ว ๆ นี้เพื่อขยายรายได้จากธุรกิจเหล่านี้ รวมทั้งยังมองหาการลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ที่มีแนวโน้มสดใสรองรับธุรกิจออนไลน์และธุรกิจ Start up ที่กำลังเติบโตขึ้นมาก โดยปีนี้จะใช้เงินลงทุน 300 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังสนใจลงทุนโรงไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะให้ผลตอบแทนไม่มาก หรือราว 11-12% ขณะที่ธุรกิจอื่นคาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทน 2 digit ทั้งนี้ บริษัทมีเงินสดและเงินลงทุนในระยะสั้นสูงถึง 7.6 พันล้านบาท ซึ่งเพียงสำหรับการขยายการลงทุนในระยะ 2-3 ปีนี้

อนึ่ง บริษัท ทีทีเอ สุเอช ซึ่ง TTA ร่วมทุนกับ SUEZ Environment ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับการประปาส่วนภูมิภาค ในการนำนวัตกรรมระบบบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียของ SUEZ มาทดลองใช้ที่การประปาส่วนภูมิภาคสาขาพัทยา เพื่อลดการสูญเสียทรัพยากรน้ำในระหว่างการขนส่งและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการน้ำประปาแก่ประชาชน

สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทคาดว่ารายได้ปีนี้จะดีกว่าปีก่อนที่มีรายได้รวม 1.37 หมื่นล้านบาท และกลับมามีกำไรได้ เนื่องมาจากธุรกิจเดินเรือฟื้นตัว โดยดัชนี BDI ปรับตัวดีขึ้น และคาดว่าปีนี้อัตราค่าระวางเรือมีแนวโน้มดีขึ้นมาที่เฉลี่ย 9,000-9,500 เหรียญ/ลำ/วัน จากปีก่อนปรับตัวลงไปมากเฉลี่ยที่ 5,400 เหรียญ/ลำ/วัน

ทั้งนี้รายได้ปีนี้จะเพิ่มขึ้นมาจากธุรกิจอาหาร ที่บริษัทเพิ่งเริ่มดำเนินการกิจการพิซซ่า ฮัท ในประเทศไทย เมื่อ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยในช่วง มิ.ย.- ส.ค.บริษัทได้ขยายสาขาใหม่ไป 5 แห่งที่อุดรธานี อุบลราชธานี จันทบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนสาขาทั้งหมด 98 สาขา ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีนี้ (ปี 60-62) บริษัทจะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 100 สาขา คาดใช้งบลงทุน 300-500 ล้านบาท โดยเน้นขยายตามหัวเมืองใหญ่เพราะเห็นช่องว่างตลาดนี้ จากปัจจุบันสาขาส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล

อนึ่ง บริษัท พีเอช แคปปิ ตอล จำกัด หรือ PHC ซึ่งเป็นบริษัทย่อย (ถือ70%) เข้าทำสัญญาซื้อขายกิจการร้านอาหารพิซซ่า ฮัท ในประเทศไทยจากบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย) จำกัด ส่วนธุรกิจปุ๋ยเคมี ภายใต้การบริหารบริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA ฟื้นตัวในไตรมาส 2 นี้ เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกสินค้าเกษตร

โดยในปีนี้ เน้นตลาดในประเทศที่เป็นตลาดที่มีอัตรากำไรสูงกว่า จึงทำให้ปริมาณขายในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 68% ในไตรมาส 2/60 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีสัดส่วนขายเพียง 57% ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มเป็น 28% ในไตรมาส 2/60 จาก 25% ในไตรมาส 2/59 ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ PMTA อยู่ที่ 20% คาดว่าจะทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วง 3 ปีนี้

นอกจากนี้ ธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งของเมอร์เมดฯ ยังไปได้ดี มีการบริหารจัดการที่ดี แม้ว่าได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง แต่ได้เน้นการควบคุมต้นทุน และมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือวิศวกรรมใต้ทะเลเพิ่มขึ้นที่ 64% จาก 53% ในไตรมาส 1/60

ขณะเดียวกัน บริษัทร่วมที่เมอร์เมดถือหุ้นอยู่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าที่ตกลงต่อสัญญาว่าจ้างเรือขุดเจาะแบบสามขาทั้งสามลำของบริษัท ออกไปอีก 3 ปี ซึ่งจะหมดสัญญาในปี 62 สำหรับธุรกิจถ่านหินโดย บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) หรือ UMS คาดว่าปีนี้จะมีผลขาดทุนสุทธิลดลง เนื่องจากปริมาณขายเพิ่มขึ้น

“แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากภาวะตลาดที่ผันผวนและเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังคาดการณ์ไม่ได้ TTA ยังคงมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ขณะที่บริษัทหลายแห่งประสบปัญหาทางการเงิน จะเห็นได้ว่า TTA สามารถจ่ายคืนหุ้นกู้กว่า 2 พันล้านบาทได้ตรงเวลา ประจวบกับภาวะตลาดขนส่งสินค้าทางเรือและอัตราค่าระวางเรือฟื้นตัว ทำให้ธุรกิจ TTA Group กลับมาสดใสอีกครั้ง” นายเฉลิมชัย กล่าว

Back to top button