4 หุ้น”เดินเรือ”เขียวยกแผง! รับดัชนี BDI พุ่งแรงต่อเนื่อง
4 หุ้น"เดินเรือ"เขียวยกแผง! รับดัชนี BDI พุ่งแรงต่อเนื่อง นำโดย TTA RCL PSL และ JUTHA
ช่วงนี้ดัชนีค่าระวางเรือ BDI (Badi Dry Index) ที่ปรับขึ้นต่อเนื่องจากกลาง ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งลงไประดับต่ำสุดที่ 811 จุด โดยล่าสุด(17ส.ค.) ดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,247 จุด ขณะที่คาดภาพรวมอุตสาหกรรมเรือเทกองในระยะยาวมีแนวโน้มฟื้นตัวคาด BDI จะดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้
อีกทั้งภายใต้การปลดระวางเรือมีแนวโน้มเร่งตัวในระยะกลาง หลังข้อตกลงการจัดการน้ำถ่วงเรือ เริ่มใช้ในเดือน ก.ย. คาด Supply กองเรือในปีนี้จะเพิ่มในอัตราต่ำราว 1-2%ขณะที่ปี’61 คาด Supply อาจจะคงที่หรือลดลงเล็กน้อยโดยคาดภาวะOversupply ดีขึ้นเป็นลำดับ ล่าสุด Order-book เรือใหม่อยู่ที่ราว 8% ของกองเรือปัจจุบัน ซึ่งต่ำสุดในรอบ 15 ปี
แน่นอนทิศทางดังกล่าวถือเป็นปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่มเดินเรือให้กลับมาคึกคัก และเมื่อดูผลงานไตรมาส 2/60 ที่ออกมาฟื้นตัวส่วนใหญ่ ยิ่งทำให้หุ้นกลุ่มเรือเข้าน่าลงทุนอีกครั้ง ดังนั้นเพื่อให้เข้ากับบบรยากาศ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการรวบรวมข้อมูลผลประกอบการไตรมาส 2/60 บทวิเคราะห์ และแนวโน้มธุรกิจเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเข้าลงทุนหุ้นกลุ่มดังกล่าว
สำหรับหุ้นกลุ่มเรือที่คัดเลือกมานำเสนอมี 4 ตัว คือ TTA,RCL,PSL และ JUTHA โดยหุ้นดังกล่าวทำผลงานไตรมาส 2/60 ได้น่าประทับใจเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหุ้น TTA และ RCL ที่พลิกมีกำไรได้อย่างสวยสดงดงาม ตามมาด้วย PSL ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถทำกำไรได้ แต่เมื่อตัวเลขผลขาดทุนที่ลดลงอย่างมากก็น่าจะเป็นทิศทางที่ดีในอนาคตสำหรับหุ้นรายนี้เช่นกัน
โดยบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/60 (รวมบริษัทย่อย) สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.60 พลิกมีกำไร 214.71 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 30.62 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนพลิกมีกำไร 301.93 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 261.30 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวพลิกมีกำไร เนื่องจากมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นและต้นทุนรวมลดลง ค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลง
บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า TTA มีโอกาสฟื้นตัวในปีนี้ โดยได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของค่าระวางเรืองคงแนะนำให้ลงทุนหุ้น TTA ที่ราคาเป้าหมาย 13.00 บาท จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของค่าระวางเรือ (BDI) ท่ามกลางไฮซีซั่นของการส่งออก จากการที่ตัวเลขด้านการผลิต (PMI) ของทั้งโลกดีขึ้น ทั้งสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ ๆ ทั้ง ถ่านหิน เหล็ก
รวมทั้งค่าระวางเรือปรับตัวดีขึ้นตามค่าเฉลี่ย BDI ไตรมาส 1/60 และ 2/60 อยู่ที่ 945 และ 1,006 จุดตามลำดับ ซึ่งเริ่มเข้าสู่ทิศทางที่เราคาดการณ์ไว้อย่างระมัดระวัง BDI เฉลี่ยที่ 1,000 จุดในปี 60 และ 1,200 จุดในปี 61 ซึ่งพลิกจากระดับ 673 ในปี 59 และ 718 ในปี 58 เมื่อดัชนี BDI มีทิศทางที่ดีขึ้น บจ.ต่าง ๆ จะเริ่มทำสัญญาเช่าเรือระยะยาวมากขึ้น
สำหรับครึ่งหลังปีนี้คาดดัชนีค่าระวางเรือฟื้นตัวต่อเนื่องจาก (1) ความต้องการนำเข้าถ่านหินและแร่เหล็กคุณภาพสูงของจีนที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายควบคุมมลภาวะและเน้นการผลิตเหล็กคุณภาพสูง และ (2) จีนเร่งนำเข้าถ่านหินก่อนเข้าฤดูหนาว ภาพรวมอุตสาหกรรมเรือเทกองในช่วงที่เหลือของปีดูสดใสต่อเนื่องถึงปีหน้าจากการค้าที่ฟื้นตัว
โดยองค์กรการค้าโลก (WTO) คาดว่าปริมาณการค้าทั่วโลกในปี 2560 จะเร่งตัวขึ้น 2.4% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 1.8% สำหรับธุรกิจอื่นๆ ของบริษัทมีแนวโน้มเติบได้ดีเช่นกัน ธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งของ MML จะเข้า High Season ในไตรมาส 2 และไตรมาส 3
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า บริษัทปรับโครงสร้างธุรกิจในระยะ 3 ปีนี้ด้วยการลดสัดส่วนธุรกิจเดินเรือ หรือกลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง และธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งของ บมจ.เมอร์เมด มาริไทม์ มาที่สัดส่วนรวมกัน 40-50% ภายในปี 62 จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้หลักรวมกันราว 60% และหันมาเพิ่มสัดส่วนจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมาที่ระดับ 20-30% จากที่มีสัดส่วนไม่ถึง 10% ในปัจจุบัน ขณะที่จะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มเติมจากธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำ รวมทั้งยังมีการลงทุนธุรกิจ Start up ซึ่งปีนี้ลงทุนไปแล้ว 300 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทคาดว่ารายได้ปีนี้จะดีกว่าปีก่อนที่มีรายได้รวม 1.37 หมื่นล้านบาท และกลับมามีกำไรได้ เนื่องมาจากธุรกิจเดินเรือฟื้นตัว โดยดัชนี BDI ปรับตัวดีขึ้น และคาดว่าปีนี้อัตราค่าระวางเรือมีแนวโน้มดีขึ้นมาที่เฉลี่ย 9,000-9,500 เหรียญ/ลำ/วัน จากปีก่อนปรับตัวลงไปมากเฉลี่ยที่ 5,400 เหรียญ/ลำ/วัน นอกจากนี้บริษัทมีแผนจะซื้อเรือมือสองอีก 1-2 ลำ ในปีนี้ จากปัจจุบันที่มีกองเรือ จำนวน 21 ลำ มีระวางบรรทุกเฉลี่ยเท่าก้บ 53,188 เดดเวทตัน และมีอายุเฉลี่ย 11.82 ปี
ส่วนบริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) หรือ RCL รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/60 (รวมบริษัทย่อย) สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.60 พลิกมีกำไร 162.84 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 180.61 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนพลิกขาดทุน 98.25 ล้านบาท ลดลง 76.94% จากปีก่อนขาดทุน 261.30 ล้านบาท
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวพลิกมีกำไร เนื่องจากปริมาณการขนส่งตู้สินค้ารวมมีปริมาณเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีรายได้จากการเดินเรือเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนการเดินเรือลดลง
บล.โกลเบล็ก ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้มีแนวโน้มอ่อนแรงลงจากปัจจัยบวกเรื่องแรงซื้อดักงบไตรมาส 2/60 ที่อ่อนกำลังลงหลังบจ.ประกาศงบการเงินครบแล้ว และหุ้นที่จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจะเริ่ม XD ในเดือน ส.ค.ประกอบกับ Fund Flow ต่างชาติที่เป็น Net Sell ตั้งแต่ต้นเดือน และการที่ราคาน้ำมันไม่สามารถยืนที่ระดับสูงได้ โดยยังมีปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและสถานการณ์ตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีที่คลี่คลายลง
ทั้งนี้ แนะนำทยอยซื้อกลุ่มหุ้นรายตัวที่มีข่าวดี อาทิ กลุ่มระวางเรือ แนะนำ RCL ได้ประโยชน์จากค่าระวางเรือทำ high ในรอบ 3 เดือนขณะที่ราคาหุ้นซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (BVS) ที่ 10.40 บาท
ด้านบริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSL รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/60 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.60 (รวมบริษัทย่อย) ขาดทุน 5.20 ล้านบาท ลดลง 98.91% จากปีก่อนขาดทุน 475.44 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนขาดทุน 64.49 ล้านบาท ลดลง 96.18% จากปีก่อนขาดทุน 1,686.78 ล้านบาท
บล.ไอร่า ระบุในบทวิเคราะห์ว่า PSL ผลการดำเนินงานเข้าใกล้จุดคุ้มมากขึ้นไตรมาส 2/60 ผลการดำเนินงานปกติดีกว่าคาด โดยขาดทุนลดลงราวครึ่งหนึ่งเทียบไตรมาสก่อนหน้า เหลือ 33 ล้านบาท จากการควบคุมต้นทุนที่ยังทำได้ดี ขณะที่ Performance เรือ Supramax ของ PSL ทำได้ดีขึ้น พร้อมปรับประมาณการปี 60 คาดขาดทุน 183 ล้านบาท ดีขึ้นจากเดิมคาดขาดทุนเกือบ 600 ล้านบาท และคาดกลับมากำไรสุทธิในปี’61ประเมินราคาเป้าหมายปี’61 ที่ 13.50 บาท
นายคาลิด มอยนูดดิน ฮาชิม กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า บริษัทคาดผลประกอบการในไตรมาส 4/60 จะทำได้ดีที่สุดในปีนี้ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น และผู้ส่งออก-นำเข้ามีการใช้บริการขนส่งมากที่สุดของทุก ๆ ปีอยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยบวกจากงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน One Belt One Road ของจีนทำให้การบริโภคเหล็กในจีนสูงขึ้น 10% ภายในปีนี้ โดยในช่วงปลายปีนี้คาดว่าดัชนีค่าระวางเรือ BDI จะขึ้นไปแตะระดับ 1,100-1,200 จุดได้ ซึ่งหาก BDI ขึ้นไปสู่ระดับดังกล่าวถือว่าเป็นจุดที่มีกำไร และอาจจะส่งผลให้ช่วงไตรมาส 4/60 กลับมามีผลกำไรได้
บริษัทมั่นใจว่ารายได้ปีนี้จะไม่ต่ำกว่าปีก่อนที่ทำได้ระดับ 3.79 พันล้านบาท เนื่องจากรายได้การเดินเรือต่อลำต่อวันในปีนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งบริษัทมีรายได้จากการเดินเรือในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 8,899 ดอลลาร์สหรัฐ/ลำ/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5,519 ดอลลาร์สหรัฐ หลังดัชนีค่าระวางเรือ BDI ครึ่งปีแรกปรับตัวขึ้นไปสูงถึง 975 จุด จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 673 จุด โดยมองว่าปีที่ผ่านมาค่าระวางเรือได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และปัจจุบันความต้องการใช้เรือปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ บริษัทยกเลิกรับมอบเรือขนาด Ultramax น้ำหนักบรรทุก 6.4 หมื่นเดทเวทตัน มูลค่า 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เดิมมีกำหนดรับในเดือนม.ค.61 ซึ่งจะไม่กระทบกับผลการดำเนินในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีเรือในกองอยู่ทั้งหมด 36 ลำ มีจำนวนเรือเพียงพอต่อการดำเนินงานในปัจจุบัน และบริษัทยังไม่มีแผนการลงทุน หรือซื้อเรือใหม่เพิ่มเติมในขณะนี้
ส่วนบริษัท จุฑานาวี จำกัด (มหาชน) หรือ JUTHA รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/60 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.60 (รวมบริษัทย่อย)ขาดทุน 36.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.25% จากปีก่อนขาดทุน 27.14 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนขาดทุน 75.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.05% จากปีก่อนขาดทุน 67.62 ล้านบาท
โดยไตรมาส 2/2560 มีผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 36.16 ล้านบาท สำหรับผลขาดทุน 32.99 ล้านบาท ได้รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงอยู่จำนวน 4.80 ล้านบาท เปรียบเทียบผลการดำเนินงานในระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน มีผลขาดทุนสุทธิ 24.12 ล้านบาท ได้รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงอยู่จำนวน 0.02 ล้านบาท
หากพิจารณาผลขาดทุนสุทธิ จากการดำเนินงานจะเห็นว่า บริษัทฯและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนสุทธิ 28.19 ล้านบาท และ 24.15 ล้านบาท ตามลำดับ โดยธุรกิจพาณิชย์นาวียังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการชะลอตัวของการค้าระหว่างประเทศ และภาวะเศรษฐกิจของโลกที่มีความผันผวนมาก จึงทำให้โดยรวมบริษัทฯ ยังมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานอยู่
สำหรับราคาหุ้น TTA ปิดตลาดภาคเช้าวันนี้(18 ส.ค.) อยู่ที่ระดับ 9.45 บาท บวก 0.15 บาท หรือ 1.61% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 88.04 ล้านบาท ส่วน RCL ปิดตลาดภาคเช้าอยู่ที่ระดับ 8.85 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 1.14% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 41.58 ล้านบาท
ด้าน PSL ปิดตลาดภาคเช้าอยู่ที่ระดับ 10.80 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 0.93% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 36.92 ล้านบาท ส่วน JUTHA ปิดตลาดภาคเช้าอยู่ที่ระดับ 2.72 บาท บวก 0.06 บาท หรือ 2.26% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 2.15 ล้านบาท
*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน