TLUXE ศึกษาธุรกิจ Pet Center รูปแบบเฟรนไชส์ต่อยอดธุรกิจสัตว์เลี้ยง

TLUXE ศึกษาธุรกิจ Pet Center รูปแบบเฟรนไชส์ต่อยอดธุรกิจสัตว์เลี้ยง-ตั้งศูนย์กระจายสินค้าอาหารสัตว์น้ำ


นายสุวิทย์ วรรณะศิริสุข ผู้อำนวยการสายบัญชีและการเงิน บริษัท ไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TLUXE เปิดเผยว่า บริษัทศึกษาแผนการลงทุน เพื่อต่อยอดธุรกิจสัตว์เลี้ยงอย่างเต็มตัว ในโครงการ Pet Center แบบครบวงจร เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับธุรกิจ Pet Center ในรูปแบบ Franchise ตั้งแต่ขนาด เล็ก กลาง และใหญ่ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ต่อการลงทุนในลักษณะการตั้งศูนย์กระจายสินค้าอาหารสัตว์น้ำหลังมองแนวโน้มการเติบโตในอนาคต

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง บริษัทยังคงรับออเดอร์การผลิตอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบการรับจ้างผลิต (OEM) โดยสามารถรองรับปริมาณการผลิต ได้ทั้งโรงงานที่จังหวัดเพชรบุรี และ โรงงานจังหวัดสงขลา

โดยแนวโน้มของธุรกิจสัตว์เลี้ยงเติบโตเฉลี่ย 10-15% ตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของคนในสังคม โดยเฉพาะธุรกิจบริการสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น โรงพยาบาลสัตว์  ศูนย์ดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงครบวงจรบริการสปา คาเฟ่ และโรงแรมสำหรับสัตว์เลี้ยง ศูนย์ฝึก ศูนย์รับฝาก รวมไปถึงธุรกิจประกันภัย Pet Insurance เป็นต้น ทำให้บริษัทได้ศึกษาแผนการลงทุน เพื่อต่อยอดธุรกิจสัตว์เลี้ยงอย่างเต็มตัว ในโครงการ Pet Center แบบครบวงจรดังกล่าว

นอกจากนั้น บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด และความเป็นไปได้ต่อการลงทุนในลักษณะการตั้งศูนย์กระจายสินค้าอาหารสัตว์น้ำ หลังมองแนวโน้มการเติบโต เนื่องจากมีลูกค้าบางราย (ดีลเลอร์) สั่งซื้อสินค้าของบริษัทไปจำหน่ายเอง ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) อาหารสัตว์น้ำ ประมาณ 10% ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

นายสุวิทย์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมปลาในช่วงไตรมาส 3/60 สถานการณ์โดยรวมปรับตัวดีขึ้น การทำตลาดอาหารปลามีการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งทางด้านคุณภาพและราคา ดังนั้น เพื่อให้สามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดให้ได้มากที่สุด จะยังคงเน้นผลักดันฐานลูกค้ารายหลัก ทั้งรายใหม่ และรายเดิม มีการเพิ่มลูกบ่อ การขยายตลาดปลาให้กับลูกค้า รวมถึงขยายการทำตลาดในกลุ่มอาหารปลาทะเล  เช่น อาหารปลากะพง  เป็นต้น โดยเฉพาะในพื้นที่การเพาะเลี้ยงหลัก จังหวัดฉะเชิงเทรา และ สมุทรปราการ  และขยายไปยังพื้นที่การเพาะเลี้ยงในเขตภาคใต้ อาทิ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร  เป็นต้น เพื่อเป็นการขยายฐานตลาดในกลุ่มสินค้าเกรดพรีเมี่ยม และสร้างมูลค่าเพิ่ม  ให้มีการขยายยอดขายให้เติบโตเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังผลิตอาหารกุ้งที่ 80,400 ตัน และอาหารปลาที่ 61,000 ตัน โดยมีการขยายตลาดอาหารปลา ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และ ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งมียอดส่งออกประมาณ 20%

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมกุ้ง ในช่วงครึ่งปีหลัง มีทิศทางการเติบโตต่อเนื่อง ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.60 ปริมาณผลผลิตกุ้งเพิ่มมากขึ้น  และพื้นที่การเลี้ยงจริงเพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/60 คิดเป็น 70% ของพื้นที่ทั้งหมด ขณะที่การแข่งขันของผู้ค้าปัจจัยในอุตสาหกรรมกุ้งค่อนข้างสูง

เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการเลี้ยงเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ได้แก่ ลูกพันธุ์กุ้ง และอาหารกุ้ง ดังนั้น บริษัทจึงปรับแนวทางการตลาดโดยเน้นอาหารเกรดพรีเมี่ยม โปรตีนสูง 42-45% ที่มีคุณสมบัติเร่งการเจริญเติบโต และลดระยะเวลาการเลี้ยง ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีกว่า พร้อมปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง

“บริษัทได้กำหนดนโยบาย โดยเน้นเรื่องคุณภาพของสินค้าเป็นหลัก และให้บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ตรวจสุขภาพกุ้งพร้อมให้คำปรึกษา ตลอดจนความรู้ทางวิชาการ เพื่อให้ลูกค้าตัวแทนจำหน่าย และ เกษตรกรผู้เลี้ยงโดยตรง ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและบริการที่เป็นเลิศ นอกจากนี้ยังจะเน้นทำการตลาดผ่าน social media ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงมากขึ้น”นายสุวิทย์ กล่าว

นายสุวิทย์ กล่าวว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้จากยอดขายที่ระดับ 1,800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน เนื่องจากแนวโน้มอุตสาหกรรมธุรกิจอาหารสัตว์มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนการดำเนินธุรกิจพลังงานของบริษัทย่อย โรงไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy) และพลังงานลม ในประเทศญี่ปุ่นนั้น หลังจากที่คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติลงทุน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ เพิ่มอีก 10 โครงการ ช่วงต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะเริ่มขายไฟฟ้าได้ภายในไตรมาส 3/60 ซึ่งการลงทุนเพิ่มใน 10 โครงการดังกล่าว  ทำให้บริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศญี่ปุ่น ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ทันทีในไตรมาส 3 นี้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 13 โครงการ

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมดำเนินการเชิงพาณิชย์ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพเพิ่มในไตรมาส 4/60 อีกจำนวน 10 โครงการ รวมแล้วบริษัทจะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ทั้งสิ้น 23 โครงการ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 2,875 กิโลวัตต์ หรือกำลังการผลิตเทียบเท่ากับ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 23 เมกะวัตต์ ในปี 60 ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่เมืองอาโอโมริ (Aomori) ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 7 โครงการ มูลค่าการลงทุน 80 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 3/60 นี้เช่นเดียวกัน

Back to top button