UWC บวก 8.33% หลังคว้างานเสาส่งไฟฟ้า 2 โครงการ มูลค่ารวม 537 ลบ.

UWC บวก 8.33% หลังคว้างานเสาส่งไฟฟ้า 2 โครงการ มูลค่ารวม 537 ลบ. ล่าสุด ณ เวลา 10.30 น. ราคาอยู่ที่ 0.13 บาท บวก 0.01 บาท หรือ 8.33% สูงสุดที่ 0.13 บาท ต่ำสุดที่ 0.12 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 12.70 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัท เอื้อวิทยา จำกัด (มหาชน) หรือ UWC ณ เวลา 10.30 น. ราคาอยู่ที่ 0.13 บาท บวก 0.01 บาท หรือ 8.33% สูงสุดที่ 0.13 บาท ต่ำสุดที่ 0.12 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 12.70 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยโดยรวมบวก 0.18%

นายธีรชัย ลีนะบรรจง กรรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจและกิจการองค์กร UWC เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้รับงานก่อสร้างโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงในภาคตะวันตกและภาคใต้ น้ำหนักรวม 14,000 ตัน ขนาด 500kV และ 230 kV จำนวน 2 โครงการ มูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น 537 ล้านบาท

โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในภาคตะวันตก และภาคใต้ น้ำหนักรวม 14,000 ตัน โดยงานเสาส่งขนาด 500 kV เส้นทางสุราษฎร์ธานี 2–ภูเก็ต 3 วงจรคู่ ระยะทางประมาณ 186 กิโลเมตร และงานสายส่งขนาด 230 kV เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ทุ่งสง ไปยังสถานีไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีปริมาณงานโครงการสายส่งที่รอส่งมอบ (Backlog) จำนวน 40,000 ตัน มูลค่ารวมประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดว่าจะสามารถทยอยรับรู้รายได้ในปี 2560 และในปี 2561 ขณะเดียวกันในช่วงที่เหลือของปี 2560 บริษัทมีโอกาสจะได้รับงานเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มอีก 2 โครงการ มูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายใน 1-2 เดือนนี้

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมเข้าประมูลงานเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง บริเวณภาคใต้ในช่วงไตรมาส 4/60 มูลค่าโครงการรวม 4,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดจะมีโอกาสได้รับงานดังกล่าวประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยเบื้องต้นหากได้รับงานดังกล่าวจะสามารถทยอยส่งมอบได้ตามกำหนดภายในช่วงไตรมาส 2/62

นายธีรชัย กล่าวอีกว่า บริษัทมั่นใจรายได้ปี 2560 จะเติบโตประมาณ 25% หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท จากปี 2559 ที่มีรายได้รวม 1,143.89 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทจะสามารถทยอยรับรู้รายได้จากการส่งมอบเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยในช่วงที่เหลือของปี 2560 มีโอกาสที่มูลค่างานสายส่งไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับประมาณ 2,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันในช่วงที่เหลือของปี 2560 บริษัทจะสามารถทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าจำนวน 3 แห่ง คิดเป็นขนาดกำลังการผลิต รวม 22.50 เมกะวัตต์ (MW) ได้แก่ 1.โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ยูดับบลิวซี โกเมน ไบโอแมส จ.นครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิต 9.90 MW ซึ่งมีสัญญาขายไฟฟ้าจำนวน 8 MW

2.โครงการโรงไฟฟ้าสตึกไบโอแมส จ.บุรีรัมย์ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 7.50 MW ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 6.50 MW โดยเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 60 และ 3.โครงการโรงไฟฟ้า ยูดับบลิวซี อำพัน ไบโอแมส ที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 9.50 MW โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 8 MW ซึ่งเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. 60

“ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้รับผลกระทบต้นทุนจากโครงการโรงไฟฟ้าสตึกไบโอแมส และโรงไฟฟ้า ยูดับบลิวซี อำพัน ไบโอแมส เนื่องจากมีการจ่ายไฟเข้าระบบที่ล่าช้ากว่ากำหนด อย่างไรก็ตามขณะนี้โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้เริ่มเดินเครื่องจ่ายไฟเข้าระบบแล้ว ซึ่งบริษัทจะมีการเร่งการเดินเครื่องให้ได้อย่างมีประสิทธิมากขึ้น” นายธีรชัย กล่าว

Back to top button