ทริสเรทติ้งคงเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ BJC ที่ “A+” แนวโน้ม “Stable”

ทริสเรทติ้งคงเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ BJC ที่ "A+" แนวโน้ม "Stable"


ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือBJC ที่ระดับ “A+” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัท ตลอดจนความหลากหลายของธุรกิจและแหล่งรายได้ และการมีตลาดรองรับสินค้าที่กว้างขวาง การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการเข้าซื้อกิจการของ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) หรือบิ๊กซี ในปีที่ผ่านมาด้วย ซึ่งการซื้อกิจการดังกล่าวยังเพิ่มเครือข่ายสาขาร้านค้าปลีกจำนวนมากและสร้างประโยชน์จากการผสานพลังทางธุรกิจให้แก่บริษัทอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากภาระหนี้สินทางการเงินที่สูงของบริษัทและการแข่งขันที่รุนแรงในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคและร้านค้าปลีกสมัยใหม่ นอกจากนี้ การทบทวนอันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณารวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคด้วย

สถานะที่แข็งแกร่งทางธุรกิจของบริษัทสะท้อนถึงความหลากหลายของธุรกิจ ตลอดจนแหล่งรายได้ และตลาดรองรับสินค้าที่กว้างขวาง ธุรกิจหลักของบริษัทแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่1) กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดแก้วและกระป๋องอะลูมิเนียม 2) กลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภค ซึ่งครอบคลุมทั้งสินค้าด้านอาหารและสินค้าอุปโภคต่าง ๆ  3) กลุ่มสินค้าและบริการด้านสุขภาพและสินค้าทางเทคนิค ซึ่งเน้นสินค้าด้านเวชภัณฑ์ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าทางเทคนิคต่าง ๆ 4) ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งเป็นธุรกิจที่บิ๊กซีดำเนินงานด้านร้านค้าปลีกสมัยใหม่และพื้นที่ให้เช่า และ 5) ธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยร้านหนังสือเอเซีย บุ๊คส และธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ

ผลิตภัณฑ์ในสายธุรกิจหลักของบริษัทมีสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่ง บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชั้นนำภายในประเทศในกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ความแข็งแกร่งในกลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภคของบริษัทได้รับแรงหนุนจากตราสินค้าชั้นนำต่าง ๆ ของบริษัท อาทิ “เซลล็อกซ์” และ “ซิลค์” ในกลุ่มสินค้ากระดาษทิชชู “เทสโต” และ “โดโซะ” ในกลุ่มสินค้าขนมขบเคี้ยวและ “นกแก้ว” ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว ทั้งนี้ บริษัทมีตลาดรองรับสินค้าที่กว้างขวางครอบคลุมผู้บริโภคในหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในปี 2559 บริษัทได้เพิ่มโอกาสในการเติบโตจากการซื้อหุ้นในอัตราส่วน 97.9% ของหุ้นทั้งหมดของบิ๊กซีด้วยเงินลงทุนเกือบ 210,000 ล้านบาท บิ๊กซีมีสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งจากการเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการห้างค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่ในประเทศไทย โดย ณ เดือนมิถุนายน 2560 บิ๊กซีมีร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่ (Hypermarket) จำนวน 132 แห่ง มีซูเปอร์มาร์เก็ต 60 แห่ง และมีสาขาร้านค้าปลีกขนาดเล็ก (มินิบิ๊กซี) อีก 513 แห่ง ด้วยพื้นที่ขายสินค้าทั้งสิ้น 1.1 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) และพื้นที่ให้เช่าอีก 0.85 ล้าน ตร.ม. ทั้งนี้ สถานะทางการแข่งขันของบิ๊กซีได้รับแรงหนุนจากเครือข่ายร้านค้าปลีกที่มีสาขาจำนวนมาก รวมทั้งการมีระบบเครือข่ายการจัดหาสินค้าและกระจายสินค้าที่ดีด้วย

อันดับเครดิตยังได้รับแรงหนุนจากผลการดำเนินงานของบริษัทที่ดีและค่อนข้างมีเสถียรภาพจากการมีธุรกิจและแหล่งรายได้ที่หลากหลาย โดยบริษัทมียอดขายเฉลี่ยต่อปีเติบโตในอัตรา 6% ในช่วงปี 2555-2558 รายได้จากการขายซึ่งรวมรายได้จากค่าเช่าและบริการในปี 2559 อยู่ที่ 133,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายได้จากการขายที่ระดับ 42,893 ล้านบาทในปี 2558 อันเป็นผลมาจากการเติบโตของยอดขายในกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น (เติบโต 7% จากปีก่อน) และการรวมรายได้ของบิ๊กซีเข้ามาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2559 เป็นสำคัญ ทั้งนี้ บิ๊กซีมีรายได้จากการขายและรายได้จากค่าเช่าและบริการรวม 117,340 ล้านบาทเต็มปีในปี 2559

หลังจากการซื้อกิจการและรวมรายได้ของบิ๊กซีเข้ามาแล้ว รายได้รวมของบริษัทซึ่งรวมรายได้ค่าเช่าและบริการมาจากบิ๊กซีถึง 70% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2559 เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจากประมาณ 5,000 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 11,203 ล้านบาทในปี 2559 บริษัทคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปีหลังจากการควบรวมกับบิ๊กซีเพื่อรับรู้ประโยชน์จากการผสานพลังทางธุรกิจและการประหยัดต่อขนาดได้ คิดเป็นกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายประมาณ 1,700 ล้านบาทต่อปี

อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดบางประการจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคและร้านค้าปลีก โดยการแข่งขันด้านราคาและการส่งเสริมการขายเกิดขึ้นบ่อยและค่อนข้างรุนแรง นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าซึ่งส่งผลลบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมทั้งส่งผลต่อรายได้ของบริษัทและการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิมของบิ๊กซีอีกด้วย

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่าค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในประเทศไทยเติบโตในอัตรา 0.6% ในปี 2557 2.2% ในปี 2558 และ 3.1% ในปี 2559 และเติบโต 3.2% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แม้ค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะมีอัตราเติบโตที่เพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวอาจจะยังคงจำกัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคและส่งผลทำให้จำนวนผู้ใช้บริการร้านค้าปลีกลดลงตามไปด้วย ยอดขายในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคของบริษัทในตลาดภายในประเทศลดลง 5% ในปี 2559 ยอดขายจากสาขาเดิมของบิ๊กซีลดลง 3% ในปี 2558 และลดลงอีก 12.8% ในปี 2559 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากการใช้นโยบายใหม่ของบริษัทในการยกเลิกการขายสินค้าที่ไม่ทำกำไรตั้งแต่ช่วงกลางปี 2559 ในอนาคตบริษัทจะยังคงเผชิญกับความท้าทายต่อไปจากความพยายามที่จะเพิ่มยอดขายจากสาขาเดิม

สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะเติบโตในระดับปานกลางโดยมีแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตลอดจนการขยายกำลังการผลิตในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของบริษัท และการขยายสาขาร้านค้าของบิ๊กซี ยอดขายจากสาขาเดิมของร้านค้าของบิ๊กซีคาดว่าจะเติบโตในปี 2561 อัตรากำไรจากการดำเนินงานจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นจากผลของความพยายามของบริษัทในการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และการผสานพลังทางธุรกิจ

อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดบางประการจากระดับภาระหนี้สินทางการเงินที่สูงอันเป็นผลจากการซื้อกิจการของบิ๊กซี ทั้งนี้ เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับประมาณ 15,000 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 152,234 ล้านบาทในปี 2559 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ 57.8% ณ เดือนธันวาคม 2559 ความสามารถในการสำรองเงินสดเพื่อการชำระหนี้ลดลงโดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่ระดับ 7.4% ในปี 2559 เปรียบเทียบกับระดับ 28%-36% ในช่วงปี 2556-2558 และมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเพียง 3 เท่าในปี 2559 ซึ่งลดลงจาก 11 เท่าในปี 2558

บริษัทวางแผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 28,000 ล้านบาทในช่วงปี 2560-2562 เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในการขยายสาขาร้านค้าปลีกและเพิ่มกำลังการผลิตในธุรกิจบรรจุภัณฑ์เป็นสำคัญ บิ๊กซีวางแผนจะเพิ่มจำนวนสาขาร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ 5 แห่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต 1 แห่ง และร้านมินิบิ๊กซี 200 แห่งต่อปี คาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานและระดับสภาพคล่องของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 4 เท่าในช่วงระยะปานกลาง

สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถคงความแข็งแกร่งในการแข่งขันในสายธุรกิจหลักของบริษัทเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมั่นคงต่อเนื่อง

ความเสี่ยงจากการถูกปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดจากการที่ภาระหนี้สินของบริษัทลดลงช้ากว่าคาด หรือหากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาดไว้อันเนื่องมาจากผลการดำเนินงานที่ถดถอยลง และ/หรือโครงสร้างเงินทุนที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญเป็นระยะเวลานาน ในขณะที่โอกาสปรับเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตในช่วงระยะเวลาปานกลางอาจมีข้อจำกัดเมื่อพิจารณาถึงภาระหนี้ก้อนใหญ่ของบริษัทที่มีอยู่

Back to top button