SUPER จับมือพันธมิตรเวียดนามลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลม 700 MW มูลค่า 5.6 หมื่นลบ.
SUPER จับมือพันธมิตรเวียดนามลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลม 700 MW มูลค่า 5.6 หมื่นลบ. - เลื่อนนำ SSE เข้าตลาดหุ้นปลายปี 61 ถึงต้นปี 62 หลังเล็งออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานก่อน
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์บล็อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) พัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ขนาดกำลังการผลิตรวม 700 เมกะวัตต์ (MW) ในเวียดนาม มีมูลค่าการลงทุนรวม 5.6 หมื่นล้านบาท
โดยจะเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทที่จะถือหุ้น 51% และพันธมิตรเวียดนามที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานเข้ามาถือหุ้น 49% ซึ่งจะเริ่มพัฒนาโครงการแรกราว 100 เมกะวัตต์ ในปลายปีนี้ และคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ต้นปี 62
สำหรับการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนามครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือเพิ่มเป็น 2,500 เมกะวัตต์ตามเป้าหมายภายในปี 62 จากปัจจุบันที่มีอยู่ 809 เมกะวัตต์ โดยบริษัทมีศักยภาพที่จะลงทุนได้ราว 1.5-2 หมื่นล้านบาท/ปีในช่วงเวลาดังกล่าว จากกระแสเงินสดที่จะเข้ามาตามผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น การออกหุ้นกู้ ซึ่งขึ้นกับช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมถึงการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ในปลายปีนี้
ส่วนการนำบริษัท ซุปเปอร์ โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด (SSE) เข้าตลาดหุ้นจะถูกเลื่อนออกไปเป็นปลายปี 61 หรือต้นปี 62
“การลงนาม MOA ในการร่วมลงทุนพลังงานลมครั้งนี้ถือเป็นดีลประวัติศาสตร์ โดยมีนายกรัฐมนตรีของไทยและนายกรัฐมนตรีของเวียดนาม ร่วมเป็นสักขีพยานเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทมีความพร้อมในการลงทุนอย่างเต็มที่ เนื่องจากมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและสถาบันการเงินขนาดใหญ่พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่”นายจอมทรัพย์ กล่าว
นายจอมทรัพย์ คาดว่า โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 700 เมกะวัตต์ดังกล่าวจะได้รับใบอนุญาตขายไฟฟ้า (PPA) ครบทั้งหมดภายในปลายปีนี้ โดยมีการไฟฟ้าเวียดนามเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าที่อัตรา 0.098 เหรียญสหรัฐ/หน่วย มีอายุสัญญา 20 ปี
รูปแบบการลงทุนจะจัดตั้งบริษัทร่วมทั้งหมด 6 บริษัทเพื่อเป็นผู้ดำเนินการแบ่งเป็น 6 เฟส กำลังการผลิตกว่า 100 เมกะวัตต์/เฟส มูลค่าการลงทุนราว 8 พันล้านบาท/เฟส ซึ่งเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินกู้โครงการ ขณะที่มีส่วนทุนราว 2 พันล้านบาท โดยเฟสแรกจะลงทุนในช่วงปลายปีนี้ ใช้ระยะเวลาพัฒนา 12-14 เดือนก่อนจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ทำให้คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากการลงทุนเฟสแรกในราวต้นปี 62 เป็นต้นไป และคาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาแล้วเสร็จทั้งโครงการภายใน 3-4 ปีข้างหน้า
การลงทุนโครงการนี้คาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ระดับ 18-24% ซึ่งค่อนข้างสูง เพราะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในเวียดนามนับว่ามีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศไทย
สำหรับเงินลงทุนในโครงการจะมาจากโครงการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ที่สามารถสร้างรายได้ราว 500 ล้านบาท/เดือน ,เงินกู้จากสถาบันการเงิน และการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งธนาคารกรุงเทพ (BBL) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินอยู่ระหว่างเตรียมแผนยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต. ) เบื้องต้นคาดว่าจะระดมทุนราว 1 หมื่นล้านบาท โดยใช้กำลังการผลิตไฟฟ้าราว 118 เมกะวัตต์ เป็นสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งยังคงคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ในช่วงปลายปีนี้
ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือน ส.ค.SUPER ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับพันธมิตรในเวียดนาม ร่วมกันศึกษาและพัฒนาในการร่วมลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) และพลังงานลม จำนวน 400 เมกะวัตต์ ในประเทศเวียดนามมาส่วนหนึ่งแล้ว โดยพันธมิตรเวียดนามที่ร่วมดำเนินการเป็นคนละกลุ่ม ซึ่งสำหรับโครงการ 400 เมกะวัตต์คาดว่าจะสรุปความชัดเจนได้ภายในปีนี้
นายจอมทรัพย์ มองว่าเวียดนามนับเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตด้านพลังงานไฟฟ้าเป็นอย่างมาก จากจำนวนประชากรที่มีอยู่มาก และการที่รัฐบาลส่งเสริมให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนจำนวนมาก ซึ่งเวียดนามนับเป็นเป้าหมายหลักในการขยายการลงทุนของบริษัทในกลุ่ม CLMV ซึ่งหลังจากการรุกตลาดในเวียดนามแล้วบริษัทก็มองโอกาสการลงทุนในเมียนมาต่อไป โดยใน 3 ปีข้างหน้าตั้งเป้าหมายจะมีรายได้จากต่างประเทศเพิ่มมากกว่า 50% จากปัจจุบันที่รายได้ทั้งหมดมาจากประเทศไทย
บริษัทมีเป้าหมายที่จะใช้เงินลงทุนราว 1.5-2 หมื่นล้านบาท/ปี เพื่อรองรับการมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 2,500 ล้านบาทในช่วง 3 ปี (ปี 60-62) จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่มี PPA แล้ว 809 เมกะวัตต์ ซึ่งยังไม่นับรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะ 2 อีกราว 34 เมกะวัตต์ ที่ยังไม่ได้ลงนามสัญญา PPA โดยในส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มี PPA อยู่แล้วนั้น ปัจจุบันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว 735 เมกะวัตต์
ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มี PPA แล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย มีเพียงกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโซลาร์ฟาร์มจากจีน โดยในส่วนนี้จะเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาในช่วงปลายไตรมาส 3/60 ถึงต้นไตรมาส 4//60 ขณะที่ยังได้เจรจาเพื่อเข้าลงทุนโซลาร์ฟาร์มในจีนเพิ่มเติมอีกในอนาคต โดยมีเป้าหมายมีกำลังผลิตไฟฟ้าในจีนราว 500 เมกะวัตต์ ส่วนการเข้าไปพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่นนั้น มองเป็นระยะกลางถึงยาว หลังจากที่เห็นว่าการพัฒนาโครงการจนแล้วเสร็จใช้เวลายาวนานกว่าที่คาดไว้
นายจอมทรัพย์ กล่าวอีกว่า บริษัทคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้วแตะระดับ 1,000 เมกะวัตต์ นอกเหนือจากที่มี PPA ในมือแล้ว บริษัทก็ยังมองหาการเข้าซื้อกิจการและการพัฒนาโครงการในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น การซื้อกิจการโซลาร์ฟาร์มในจีนอีก 30 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้รับรู้รายได้เข้ามาทันที รวมถึงการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าในประเทศเพื่อขายให้ภาคเอกชน (Private PPA) ทั้งในรูปแบบของโซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายจะดำเนินการได้ในปลายปีนี้มากถึง 100 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในเดือนก.ย.นี้
นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสนใจที่จะเข้าไปร่วมประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm โดยจะเสนอ 16 โครงการ รวม 330 เมกะวัตต์ คาดหวังว่าจะชนะประมูลราว 7% ของปริมาณที่เสนอ รวมถึงจะเข้าประมูลโครงการ VSPP Semi-Firm ด้วย โดยเป้าหมายกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นทำให้บริษัทคาดว่าจะทำให้ผลการดำเนินงานทั้งในด้านรายได้และกำไรเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคตด้วย
ด้านความคืบหน้าการนำบริษัท ซุปเปอร์ โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่พัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น จะถูกเลื่อนออกไปเป็นปลายปี 61 ถึงต้นปี 62 เนื่องจากบริษัทมีแผนที่จะจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานให้แล้วเสร็จก่อนในปลายปีนี้ และต้องการให้ซุปเปอร์ โซล่าร์ เอนเนอร์ยี่ มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ด้วย
สำหรับเม็ดเงินที่ระดมทุนจากการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้น บริษัทจะนำเงินส่วนหนึ่งราว 4 พันล้านบาทไปใช้ชำระคืนหนี้ และส่วนที่เหลือใช้ลงทุน โดยปัจจุบันมีภาระหนี้เงินกู้ราว 3 หมื่นล้านบาทกับ BBL มีระยะเวลาคืนหนี้ 12 ปี อัตราดอกเบี้ย MLR-1.75% และมีวงเงินกู้บางส่วนกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เพื่อใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ขณะที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ในระดับ 1.91 เท่า ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบอุตสาหกรรมเดียวกัน