BTS วิ่งแรง 3% รับผลบวกขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า 1 ต.ค.นี้
BTS วิ่งแรง 3% รับผลบวกขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า 1 ต.ค.นี้ ล่าสุด ณ เวลา 10.24 น. อยู่ที่ 8.75 บาท บวก 0.25 บาท หรือ 2.94% สูงสุดที่ 8.75 บาท ต่ำสุดที่ 8.55 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 210.64 ล้านบาท ด้าน โบรกฯ แนะซื้อ มองปรับอัตราค่าโดยสารครั้งนี้จะมีมูลค่าเพิ่มประมาณ 2.6% จากราคาเป้าหมาย 10.60 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ล่าสุด ณ เวลา 10.24 น. อยู่ที่ 8.75 บาท บวก 0.25 บาท หรือ 2.94% สูงสุดที่ 8.75 บาท ต่ำสุดที่ 8.55 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 210.64 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นโดยรวมบวก 0.08%
ทั้งนี้ราคาหุ้น BTS ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังประกาศขึ้นค่าปรับเพิ่มค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสุขุมวิทและสายสีลม จากระดับราคา 15-42 บาท เป็น 16-44 บาท โดยมีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560
โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 บริษัทจะปรับราคาค่าโดยสารที่เรียกเก็บสำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอสในส่วนของเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กิโลเมตร ได้แก่ สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต – สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – สถานีสะพานตากสิน ไม่รวมส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร จากราคา 15-42 บาท เป็น 16-44 บาท
โดยจะเรียกเก็บสถานีแรก 16 บาท สองสถานีราคา 23 บาท สามสถานีราคา 26 บาท สี่สถานีราคา 30 บาท ห้าสถานีราคา 33 บาท หกสถานีราคา 37 บาท เจ็ดสถานีราคา 40 บาท แปดสถานีเป็นต้นไปราคา 44 บาท ซึ่งอัตราใหม่นี้เพิ่มขึ้น 1-3 บาทเมื่อเทียบกับค่าโดยสารเดิม ทั้งนี้การปรับราคาค่าโดยสารใหม่ยังคงอยู่ต่ำกว่าเพดานอัตราค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานซึ่งอยู่ในอัตรา 20.11-60.31 บาท
อย่างไรก็ตาม การปรับอัตราค่าโดยสารครั้งนี้ บริษัทจะปรับราคาจำหน่ายเที่ยวเดินทาง 30 วัน ทั้งสำหรับประเภทบุคคลทั่วไปและนักเรียนนักศึกษา ซึ่งเป็นบัตรโดยสารราคาพิเศษด้วย โดยปรับขึ้นเที่ยวละ 1 บาท ดังนี้ บุคคลทั่วไป ประเภท 50 เที่ยว 1,300 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 26 บาท ประเภท 40 เที่ยว 1,080 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 27 บาท ประเภท 25 เที่ยว 725 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 29 บาท และประเภท 15 เที่ยว 465 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 31 บาท
สำหรับนักเรียนนักศึกษา ประเภท 50 เที่ยว 950 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 19 บาท ประเภท 40 เที่ยว 800 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 20 บาท ประเภท 25 เที่ยว 550 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 22 บาท และประเภท 15 เที่ยว 360 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 24 บาท
ทั้งนี้บริษัทได้มีการปรับราคาค่าโดยสารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2556 ผ่านมากว่า 4 ปีแล้วที่บริษัทยังไม่ได้ปรับราคาค่าโดยสารพื้นฐานที่เรียกเก็บซึ่งสัญญาสัมปทานกำหนดให้บริษัทสามารถปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บได้ทุก 18 เดือนแต่ต้องไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสาร ขณะที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน สูงเพิ่มขึ้นตลอด 4 ปีที่ผ่านมาซึ่งบางรายการสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 เช่น ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงทุนเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก และการบริการให้ดียิ่งขึ้น อาทิ การสั่งซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 46 ขบวน ๆ ละ 4 ตู้ รวมเป็น 184 ตู้ ซึ่งจะเริ่มทยอยนำเข้ามาในประเทศไทยประมาณต้นปีหน้า การปรับปรุงระบบตั๋วโดยสารซึ่งจะเปลี่ยนตู้จำหน่ายบัตรโดยสารเป็นระบบสัมผัส (Touch Screen) ทั้งหมด
รวมทั้งได้สั่งตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารที่รับธนบัตรด้วยมาติดตั้งในระบบเพิ่มขึ้นอีก 50 ตู้โดยจะเริ่มทยอยติดตั้งในปี 2561 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้วประมาณ 50 ตู้กระจายอยู่ในระบบ โดยในระหว่างนี้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่ต้องแลกเหรียญเพื่อซื้อบัตรโดยสารจากตู้จำหน่ายตั๋ว บริษัทจะจัดเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วโดยสารประเภทเที่ยวเดียวในสถานีที่มีจำนวนผู้โดยสารมากในช่วงเวลาเร่งด่วน เช่น ที่สถานีหมอชิต สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีสยาม
ทั้งนี้จะใช้ห้องแลกเหรียญให้มีการจำหน่ายบัตรเที่ยวเดียวด้วย และจะมีการตั้งโต๊ะจำหน่ายตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวทุกราคาที่สถานีพญาไท สถานีสยาม สถานีอโศก เป็นต้น โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป
นอกจากนั้น บริษัทยังจะมีการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์อิเล็คทรอนิกส์บนชั้นชานชาลาเพื่อแจ้งความถี่ในการให้บริการรวมถึงแจ้งเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องและข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ และมีแผนที่จะลงทุนติดตั้งประตูกั้นชานชาลาอัตโนมัติในสถานีต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นบริษัทจึงมีความจำเป็นในการขอปรับราคาค่าโดยสารที่เรียกเก็บในครั้งนี้ ซึ่งการปรับค่าโดยสารครั้งนี้จะมีการปรับโดยเฉลี่ยเพียงประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น ทั้งนี้อัตราค่าโดยสารใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้บริษัทฯ จะยังคงราคาเดิมเป็นเวลา 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561
สำหรับผู้ใช้บัตรแรบบิทประเภทเติมเงิน ดังนั้นบริษัทฯ จึงอยากเชิญชวนผู้โดยสารที่เคยซื้อบัตรโดยสารเที่ยวเดียวเปลี่ยนมาใช้บัตรเติมเงินเพื่อความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ยังจะได้รับส่วนลดครึ่งราคาจากอัตราราคาใหม่เมื่อใช้บัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุโดยสามารถเดินทางได้ไม่จำกัดเวลา
อนึ่ง อัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บนั้น เมื่อเปิดให้บริการในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 บริษัทฯ ได้จัดเก็บในอัตรา 10 – 40 บาท และได้มีการปรับครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2549 เป็น 15 -40 บาท
ส่วนครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2556 เป็น 15 – 42 บาท และครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่รถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดให้บริการใน ปี 2542 หรือเมื่อเทียบกับที่รถไฟฟ้าให้บริการจะครบ 18 ปีในเดือนธันวาคม 2560 นี้จะเห็นได้ว่าบริษัทมีการปรับราคาน้อยครั้งมาก
ขณะที่ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า BTS เตรียมปรับเพิ่มค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสุขุมวิท (หมอชิต-อ่อนนุช) และสายสีลม (สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน) จากระดับราคา 15-42 บาท เป็น 16-44 บาท โดยมีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560
ทั้งนี้การปรับเพิ่มค่าโดยสารสำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าระยะทาง 23.5 กิโลเมตรที่จะเกิดขึ้นจะช่วยทำให้รายได้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 1% จากระดับปัจจุบัน และมีผลบวกต่อกำไรสุทธิเต็มปีราว 3% อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะยังไม่เห็นผลบวกทันทีในปีนี้ เนื่องจากการปรับเพิ่มค่าโดยสารจะถูกหักล้างโดยจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงในช่วงแรก (ประมาณ 3 เดือน)
ทั้งนี้ ประเมินเบื้องต้นว่า การปรับอัตราค่าโดยสารครั้งนี้ จะมีมูลค่าเพิ่มประมาณ 2.6% จากระดับราคาเป้าหมายปัจจุบันของที่ 10.60 บาท (โดยยังไม่รวมมูลค่าเพิ่มจากรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลือง) ยังคงแนะนำ “ซื้อ”