ทำความรู้จัก “มงแต็สกีเยอ” คนที่ “ทักษิณ” กล่าวถึง!
ทำความรู้จัก “มงแต็สกีเยอ” คนที่ “ทักษิณ ชินวัตร” กล่าวถึง!
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางออกนอกประเทศไป หลังจากได้ยื่นขอเลื่อนฟังการพิจารณาคดีจำนำข้าวเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีข่าวหลายกระแสระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์บินไปอยู่กับ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ประเทศดูไบ ล่าสุดในวันนี้ (30 ส.ค.) นายทักษิณ ได้ทวีต ข้อความผ่านทวีตเตอร์ โดยมีข้อความว่า
“มงแต็สกีเยอ เคยกล่าว “ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรม”
จากข้อความดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระแสพูดถึง “มงแต็สกีเยอ” และอยากรู้จักตัวตนของเขากันมากขึ้น “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้นำประวัติของบุคคลดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นนักวิพากษ์สังคมและนักคิดทางการเมืองชาวฝรั่งเศส ที่มีชื่อเสียงจากทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจ มาพอสังเขปดังนี้
ชารล์ หลุยส์ เดอ เซก้องม บารอน เดอ ลา เบร์ด เอ็ท เดอ มองเตสกิเออร์ หรือ ที่หลายคนรู้จักกันว่า “มงแต็สกีเยอ” เป็นนักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อวันที่้ 18 มกราคม ค.ศ.1689 และเสียชีวิต ค.ศ.1755
โดย มงแต็สกีเยอ เป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิด การแบ่งแยกอำนาจปกครองสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตย ออกเป็น 3 ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ โดยมีพื้นฐานหรือมีเป้าประสงค์ เพื่อให้อำนาจแต่ละฝ่ายเกิดการถ่วงดุลและตรวจสอบซึ่งกันและกัน รวมทั้งเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ปลอดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบขององค์กรภาครัฐที่ใช้อำนาจหนึ่งอำนาจใดที่อาจละเมิดลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ทั้งนี้ มงแต็สกีเยอ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ตอนหนึ่งว่า เมื่อใดอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารรวมอยู่ที่คนคนเดียวกันหรือองค์กรเดียวกัน อิสรภาพย่อมไม่อาจมีได้ เพราะจะเกิดความหวาดกลัว ถ้าอำนาจตุลาการไม่แยกออกจากอำนาจนิติบัญญัติ และบริหาร หากรวมอยู่กับนิติบัญญัติ ชีวิตและอิสรภาพของคนในบังคับจะอยู่ภายใต้การควบคุมแบบพลการ เพราะตุลาการอาจประพฤติด้วยวิธีรุนแรงและกดขี่ ทุกสิ่งทุกอย่างจะถึงกาลอวสาน ถ้าหากคนหรือองค์กรเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูงหรือประชาชนจะใช้อำนาจทั้งสามเหล่านี้ ดังนั้น อำนาจไม่ควรยู่ที่บุคคลคนเดียว เพราะเป็นธรรมดาที่บุคคลคนใดมีอำนาจอยู่ในมือก็มักจะใช้อำนาจเกินเลยอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจที่เกินขอบเขต
ขณะที่แนวคิดการเมืองแบบเสรีนิยมของมงแต็สกีเยอ แสดงให้เห็นแล้วว่ามีอิทธิพลต่อการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในโลกตะวันตกซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย เช่น การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษ ค.ศ. 1688 การปฏิวัติในอเมริกา ค.ศ.1776 และการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 เป็นต้น