NNCL เล็งลงทุน 3 พันลบ. สร้างโรงไฟฟ้า 60 MW
NNCL เล็งทุ่ม 3 พันลบ. สร้างโรงไฟฟ้า 60 MW เผยอยู่ระหว่างเจรจาบจ.ร่วมติดตั้งโซลาร์รูฟในนิคมฯ นวนคร
นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) หรือ NNCL เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมแผนลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 60 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในช่วงไตรมาส 2/61 จะใช้เงินลงทุนสำหรับการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวราว 3 พันล้านบาท
โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเป็นโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 ในนิคมฯ นวนคร โดยโรงไฟฟ้าโรงแรกมีขนาดกำลังการผลิตอยู่ที่ 135 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรงนี้จะใช้เป็นการให้บริการระบบสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร
อีกทั้งบริษัทยังมีแผนลงทุนโครงการพลังงานอื่น ๆ เช่น การลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ นวนคร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโซลาร์ที่เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบการรับจ้างติดตั้งหรือการร่วมทุน
พร้อมกับการเดินหน้าพัฒนานิคมฯ นวนครให้เป็นสมาร์ทซิตี้ บริษัทเตรียมแผนการลงทุนโครงการดาต้าเซ็นเตอร์ในนิคมอุตสาหกรรมนวนครในช่วงปี 61 มูลค่า 200-400 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในโครงการสมาร์ทซิตี้ เฟส 3
ขณะที่บริษัทได้ตั้งเป้าว่าโครงการสมาร์ทซิตี้ของนิคมฯ นวนครจะเป็นโครงการสมบูรณ์แบบแห่งแรกของประเทศไทย โดยได้รับความร่วมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่จะเข้ามาร่วมกันพัฒนา
ขณะเดียวกันบริษัทยังมีแผนการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพื่อเข้ามาต่อยอดและเสริมศักยภาพของธุรกิจ โดยปัจจุบันได้มีการเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการที่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจผลิตอาหารและยา จำนวน 3-4 ราย แต่ยังไม่สามารถระบุระยะเวลาที่แน่นอนได้ในเรื่องของการได้ข้อสรุป
ด้านผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทคาดว่ารายได้จะยังทรงตัวจากปีก่อนที่มีรายได้ 752.18 ล้านบาท แต่แนวโน้มกำไรสุทธิจะสูงกว่าปีก่อนที่มีกำไร 159.79 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจบริการสาธารณูปโภคภายในนิคมฯ เพิ่มมากขึ้น
โดยมีสัดส่วนรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 75% และเป็นธุรกิจที่ทำกำไรดีกว่าธุรกิจขายที่ดินนิคมฯ โดยขณะนี้สัดส่วนรายได้จากการขายที่ดินอยู่ที่ 15% เนื่องจากบริษัทไม่ได้มุ่งเน้นที่จะขายที่ดินมากเหมือนเช่นเมื่อก่อน
สำหรับการพัฒนาที่ดินในนิคมฯ ในระยะต่อไปจะแตกต่างจากช่วงที่ผ่านมาที่เน้นการพัฒนานิคมฯ ขนาดใหญ่ แต่จะเปลี่ยนไปเน้นการพัฒนาเป็นนิคมฯสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการวิจัยและพัฒนา (R&D)