ปัทโธ่! “บิ๊กตู่” ฉะสตง.ท้วงติง”เน็ตชายขอบ”ไม่เข้าเรื่อง ซัดพฤติกรรมฉุดโครงการดีๆพังหมด!

"บิ๊กตู่" ฉะสตง.หลังท้วงติงโครงการ "เน็ตชายขอบ" ซัดพฤติกรรมฉุดโครงการดีๆพังหมด! ฟาก กสทช. ขอเวลา 3 วัน ยกร่างคำตอบถึง สตง. ก่อนเดินหน้าเซ็นสัญญาให้เสร็จภายในวันที่ 10 ก.ย.นี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (6 ก.ย. 2560) กสทช. ได้พิจารณาข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และรายงานจากเลขาธิการ กสทช. ที่เข้าประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โดยมีประเด็นเรื่องการพิจารณาโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) 3,920 หมู่บ้าน จำนวน 8 สัญญา โดยเห็นชอบผลการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงาน กสทช. ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1-2 ส.ค. 2560 วงเงินงบประมาณรวม 13,614.62 ล้านบาท ประกวดราคาในวงเงินรวม 12,989.69 ล้านบาท

อีกทั้ง สามารถประหยัดงบประมาณลงได้ 624.93 ล้านบาท และให้สำนักงาน กสทช. ร่างหนังสือตอบข้อซักถามของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก่อน แล้วจึงดำเนินการเรื่องการลงนามในสัญญาต่อไป

โดยสำหรับสัญญาแต่ละสัญญามีผู้ชนะการประกวดราคา ดังนี้

1. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ 1) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,812,014,000 บาท

2. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 2 (ภาคเหนือ 2) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,103,800,000 บาท

3. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,492,599,999 บาท

4. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ได้แก่ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 1,868,235,000 บาท

5. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ 1) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัท ทีโอทีจำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 1,889,999,927 บาท

6. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 2 (ภาคเหนือ 2) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 786,549,600 บาท

7. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 532,064,800 บาท

8. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 504,423,740 บาท

อย่างไรก็ดี มีรายงานข่าวระหว่างการประชุมว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามนายฐากรถึงความคืบหน้ากรณีดังกล่าว โดยพลเอกประยุทธกล่าวในภายหลังว่า สตง. ควรดูในส่วนของข้อกฎหมายว่า สตง. มีอำนาจหน้าที่อย่างไรในการท้วงติงโครงการฯ

ทั้งนี้ควรท้วงติงโครงการที่ส่อการทุจริตต่างๆ มากกว่าจะมาท้วงติงเช่นนี้ ไม่เช่นนั้นโครงการพังหมด ซึ่งกสทช. ขอเวลา 2-3 วัน เพื่อยกร่างคำตอบถึง สตง. ก่อนจะส่งให้สตง. เพื่อเดินหน้าเซ็นสัญญาโครงการให้เสร็จภายในวันที่ 10 ก.ย.นี้ เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามกรอบเวลาเดิม เพราะนายกฯ ประกาศแล้วว่าปี 2561 เน็ตประชารัฐต้องครอบคลุมทั้งประเทศ และต้องติดตั้งครบตามที่ให้สัญญาไว้กับนายกรัฐมนตรีทั้งหมดในประเทศ 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน

Back to top button