ILINK หวังกินรวบงาน APM หลังส่งบริษัทลูก ITEL คว้างานอินเตอร์เน็ตชายขอบ

ILINK หวังกินรวบงาน APM หลังส่งบริษัทลูก ITEL คว้างานอินเตอร์เน็ตชายขอบ


สืบเนื่องจากกรณีที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้เปิดให้ผู้ผลิตระบบการขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) เข้าร่วมแข่งขันประกวดราคางานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบ APM รอบใหม่ โดยมีราคากลางที่ 2.89 พันล้านบาท เข้ามายื่นข้อเสนอเมื่อวันที่ 6 ก.ย.60

ทั้งนี้มีผู้สนใจเข้ายื่นเอกสาร 2 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการรายเดิมที่เคยเข้าแข่งขันประกวดราคาในครั้งที่ผ่านมา คือ กิจการร่วมค้า IRTI (บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK บริษัท เรืองณรงค์ จำกัด บริษัท ที.อี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และท่าอากาศยานอินชอน) ร่วมกับซีเมนส์ และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD

ล่าสุด นายณัฐนัย อนันตรัมพร กรรมการบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK และกรรมการผู้จัดการบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ” ทาง FM 98.5 MHz สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ ช่วงเวลา 9.30-11.00 น. ว่า ILINK เตรียมเข้าไปชี้แจงรายละเอียดโครงการกับ AOT เพื่อพิจารณาในเชิงของเทคนิคในวันที่ 11 ก.ย. 60 และคาดว่าการต่อราคาน่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า

โดยงานประมูลดังกล่าว ILINK ได้ร่วมมือกับซีเมนส์ ซึ่งน่าจะเป็นข้อได้เปรียบของ ILINK เนื่องจากรถไฟในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ของซีเมนส์เกือบทั้งหมด และจากการที่ซีเมนส์มีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่แล้ว จะทำให้ ILINK สามารถประหยัดต้นทุนในการบริการและสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้

ทั้งนี้มั่นใจว่าการพิจารณาเทคนิคจะไม่มีปัญหาติดขั้น แต่อย่างไรก็ตามต้องรอดูในส่วนของการต่อรองราคากับ AOT ก่อนว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร

 

ส่วนกรณี นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วานนี้ (6 ก.ย. 60) กสทช. ได้พิจารณาโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) 3,920 หมู่บ้าน จำนวน 8 สัญญา โดยเห็นชอบผลการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงาน กสทช. ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1-2 ส.ค. 2560 วงเงินงบประมาณรวม 13,614.62 ล้านบาท ประกวดราคาในวงเงินรวม 12,989.69 ล้านบาท

สำหรับการประมูลอินเตอร์ชายขอบนั้น ITEL ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ILINK ชนะการประมูลโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) จำนวน 24 จังหวัด คิดเป็นมูลค่างานรวมทั้งสิ้น 1,868,235,000 บาท

โดยขณะนี้ ITEL อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาโครงการอินเตอร์เน็ตชายขอบ หลังจากมีความชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีว่าให้ดำเนินการโครงการต่อไปได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญากับกสทช.ได้ภายในเดือนนี้

สำหรับรูปแบบการลงทุนในโครงการอินเตอร์เน็ตชายขอบจะใช้เงินลงทุนประมาณ 40% ของโครงการ เพื่อติดตั้งโครงข่ายจากจุดที่ผู้ให้บริการมีอยู่แล้วลากต่อไปยังกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดจุดเชื่อมต่อไว้ และสินทรัพย์ดังกล่าวจะเป็นของกสทช.และจะโอนให้กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ต่อไป

ส่วนที่เหลือจะเป็นการลากจากจุด A ลากกลับมาที่กรุงเทพมหานครและทำการติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ตให้ ทั้งนี้จะใช้โครงข่ายเดิมที่ผู้ให้บริการมีอยู่ เพื่อลดการซ้ำซ้อนในการลงทุนใหม่ โดยจะใช้เงินลงทุนในส่วนนี้ประมาณ 60% ของโครงการ ซึ่งเงินลงทุนในจำนวนนี้จะดำเนินการชำระเงินในรูปแบบค่าใช้บริการเป็นรายเดือน

ในส่วนอินเตอร์เน็ตนั้น ITEL ต้องร่วมมือกับบริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตรายอื่น ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีพาร์ทเนอร์เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ราว 2-3 ราย ทั้งนี้คาดว่าอัตราผลตอบแทน (IRR) สำหรับโครงการดังกล่าวเบื้องต้นจะอยู่ที่ประมาณ 10% และในอนาคตมองว่าจะสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้

สำหรับเพดานราคาสำหรับการให้บริการอินเตอร์เน็ตชายขอบซึ่งให้บริการในเขตพื้นที่โซน C ไว้ไม่เกิน 200 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ส่วนอินเตอร์เน็ตประชารัฐซึ่งให้บริการในเขพื้นที่โซน A และ B ไว้ที่ประมาณ 590 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน

Back to top button