“ฐากร” ยันเอกชนคิดค่าบริการเน็ตชายขอบได้ไม่เกิน 200 บ. เซ็นสัญญาช้าสุด 20 ก.ย.

“ฐากร” ยันค่าบริการเน็ตชายขอบไม่เกิน 200 บาท/เดือน พร้อมเซ็นสัญญาช้าสุด 20 ก.ย.นี้


นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.ได้ทำหนังสือลับชี้แจงต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 ก.ย.) กรณีที่ สตง.ท้วงติงค่าบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ในพื้นที่ชายขอบต่ำเกินไปที่ราคา 200 บาทต่อเดือนนั้น กสทช.ได้ชี้แจงสูตรการคำนวณการคิดค่าบริการที่ กสทช.กำหนดให้เอกชนเก็บค่าบริการได้ไม่เกิน 200 บาท/เดือน บนพื้นฐานทีรัฐลงทุน 70% และเอกชนลงทุน 30% ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขทีโออาร์ตามประกาศไว้ก่อนหน้าที่จะมีการประมูล

“ผมยืนยันว่าราคาบริการเน็ตชายขอบ คิดอัตราการบริการไม่เกิน 200 บาท/เดือน ซึ่งขณะนี้คิดได้ต่ำกว่า 180 บาท ราคานี้รวมค่าบำรุงรักษาด้วยระยะเวลา 5 ปี ที่ทำได้เพราะเอกชนลงทุน 30% เอง อีก 70% รัฐเป็นผู้ลงทุน” นายฐากร กล่าว

สำหรับการดำเนินงานโครงการเน็ตชายขอบ ขณะนี้ล่าช้ากว่าแผนกว่า 10 วัน คาดว่าจะลงนามสัญญาอย่างช้าที่สุดไม่เกินวันที่ 20 ก.ย.นี้ และในปลายเดือน ธ.ค.นี้จะสามารถเปิดให้บริการ 15% ก่อนที่จะครบหมดในปี 61 โดยมี 700,000 ครัวเรือนในพื้นที่เน็ตชายขอบ

ส่วนกรณีที่ บมจ.ทีโอที ระบุว่า ราคาค่าบริการ 200 บาท/เดือนไม่สามารถทำได้นั้น นายฐากร กล่าวว่า  ตนไม่รับรู้ แต่หากทีโอทีไม่สามารถรับงานในราคานี้ได้ก็ไม่ต้องมาเซ็นสัญญา และทีโอทีก็จะถูกขึ้นบัญชีดำ โดยสัญญาที่ทีโอทีชนะก็ต้องเปิดประมูลใหม่ ทั้งนี้ เงื่อนไขเรื่องค่าบริการได้กำหนดไว้ในทีโออาร์แล้ว เหตุใดทีโอทีจึงมาเรียกร้องภายหลัง

อนึ่ง เมื่อวันที่ 1-2 ส.ค.ที่ผ่านมา กสทช.เปิดประมูลโครงการเน็ตชายขอบ จำนวน 3,920 หมู่บ้าน แบ่งเป็น 8 สัญญา วงเงินรวม 13,614.61 ล้านบาท ผลประมูลเบื้องต้นว่า มีการเสนอราคาต่ำสุด 12,989.68 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 624.93 ล้านบาท หรือ 4.59% โดย บมจ.ทีโอที ได้ 3 สัญญา ,กลุ่มบมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) ได้ 3 สัญญา ,บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้ 1 สัญญา และบมจ.อินเตอร์ลิงค์ เทเลคอม (ITEL) ได้ 1 สัญญา

Back to top button