VTE ปลื้มผถห.แห่จอง RO คึกคัก-จ่อสรุปแผนลงทุนโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่นต.ค.นี้

VTE ปลื้มผถห.แห่จอง RO วันแรกคึกคัก คาดจะได้รับเงินระดมทุนครั้งนี้ราว 390 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้ตั๋วบี/อีและเป็นเงินทุนหมุนเวียน จ่อสรุปแผนโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่นเร็วๆนี้


นายศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์ กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท วินเทจวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ VTE เปิดเผยถึงเสียงตอบรับของผู้ถือหุ้นในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบ RO ในวันแรกว่า บริษัทมั่นใจว่าการเพิ่มทุนจะสำเร็จ และครบถ้วนตามเป้าหมาย โดยราคาเสนอขายหุ้นละ 2 บาท ในอัตราเสนอการจัดสรรที่ 25 หุ้นเดิมต่อ 4 หุ้นใหม่ ซึ่งถ้ารวมกับการเพิ่มทุนแบบ PP จะได้เงินเพิ่มทุนในครั้งนี้ราว 380-390 ล้านบาท

ขณะที่เบื้องต้นบริษัทจะนำเงินไปชำระตั๋ว B/E ราว 20-30% จากที่มีอยู่ 1,000 ล้านบาทซึ่งแน่นอนว่าการเพิ่มทุนนอกจากจะช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น ลดภาระหนี้และการพึ่งพาตั๋ว B/E ให้น้อยลงได้แล้ว บริษัทยังจะนำเงินส่วนที่เหลือไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือลงทุนในโครงการอื่นๆ เพิ่มเติม

สำหรับแผนการดำเนินการงานช่วงที่เหลือของปี 2560 บริษัทจะสรุปแผนการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ฟาร์มที่ประเทศญี่ปุ่นให้ผู้ถือหุ้นได้ทราบในเร็วๆ นี้ โดยจะนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทในเดือนตุลาคม

นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแผนการลงทุนหลายโครงการ โดยเป็นโครงการที่มีกำลังการผลิต 8 และ 15 เมกะวัตต์ อีกทั้งบริษัทได้วางเงินมัดจำไปแล้วหลายโครงการ ซึ่งจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะเลือกลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดและคาดจะเรียกคืนเงินมัดจำจากหลายแห่งที่ไม่ผ่านการพิจารณาการเข้าลงทุน ซึ่งจะได้รับเงินคืนเข้าบริษัทอีกจำนวนหนึ่ง และเบื้องต้นคาดว่าจะเลือกลงทุนราว 25 เมกะวัตต์ สำหรับรูปแบบการลงทุนคาดจะเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตร Joint Venture (JV) รวมกัน 3 ราย ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจากไต้หวัน

รวมทั้งบริษัทยังศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มเติมกำลังการผลิต 25 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีราคาการขายไฟอยู่ที่ 8 บาท หรือ 24 เยน เมื่อเทียบกับการราคาขายไฟในประเทศไทยอยู่ที่ระดับต่ำ อีกทั้งยังมีใบอนุญาตขายไฟฟ้า (PPA) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อร่วมลงทุนกับพันธมิตรเช่นเดียวกัน

ส่วนความคืบหน้าของโครงการก่อสร้าง โรงไฟฟ้า Minbu ในประเทศพม่า ขนาดกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ ในประเทศพม่า ซึ่งได้ส่งแผงโซลาร์ลงเรือไปตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน ที่ผ่านมา และคาดว่าจะส่งถึงไซด์งานภายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งหากส่งถึงและติดตั้งแล้วเสร็จ โครงการก่อสร้างก็จะมีความก้าวหน้าไปกว่า 50% แล้ว

ขณะที่การรับรู้รายได้จากโครงการก่อสร้าง (EPC) โรงไฟฟ้าที่ประเทศพม่า ขนาดกำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวจะทยอยรับรู้รายได้ภายใน 4 ปีข้างหน้า หรือเฉลี่ยปีละ 2.5 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทได้ร่วมถือหุ้นในโครงการดังกล่าวในสัดส่วน 12% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด

ส่วนงานโครงการก่อสร้างที่โรงไฟฟ้าประเทศฟิลิปปินส์ กำลังการผลิต 25 เมกะวัตต์ มูลค่า 1,000 ล้านบาท โดยบริษัทรับรู้รายได้ไปแล้วราว 50% ขณะที่ปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) กว่า 3 พันล้านบาท ในต่างประเทศและในประเทศไทยมี backlog 700 ล้านบาท ขณะนี้รับรู้รายได้ครึ่งปีแรกแล้ว 400 ล้านบาท และคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้เข้ามาในครึ่งปีหลังกว่า 50% โดยขึ้นอยู่กับการส่งมอบสินค้า

ทั้งนี้หากบริษัทได้รับเงินจากโครงการก่อสร้างในมือ บริษัทก็จะมีเงินสดหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นเพื่อเสริมสร้างให้ธุรกิจแข็งแรงขึ้น สามารถขยายและสร้างผลกำไรให้กับบริษัทและผู้ถือหุ้นได้ในอนาคตอันใกล้นี้

Back to top button