JWD ตั้งเป้ารายได้ปีนี้โต 7% เล็งขยายสัดส่วนรายได้ตปท.เป็น 25% ภายในปี 63

JWD ตั้งเป้ารายได้ปีนี้โต 7% เล็งขยายสัดส่วนรายได้ตปท.เป็น 25% ภายในปี 63 คาดตั้งกอง REIT และขายสินทรัพย์เข้ากองได้ภายในไตรมาส 4/60 หรือไตรมาส 1/61


นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 61 เติบโตมากกว่า 10% จากปีนี้ที่คาดจะเติบโต 7% จากปีก่อน หลังจากที่ได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท โอเชี่ยน แอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (OAI) ซึ่งประกอบธุรกิจตัวแทนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทางทะเล ทางอากาศ (Freight Forwarding) ซึ่งช่วยต่อยอดจากปัจจุบันที่บริษัทเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภาคพื้นดินเป็นหลัก

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเดือนต.ค. บริษัทจะสามารถเริ่มงาน Freight Forwarder ได้ทันที หลังจากการควบรวมกิจการ OAI เข้ามาอยู่ในบริษัท เจวีเค อินเตอร์เนชั่นแนล มูฟเวอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ และจะเริ่มรับรู้รายได้และกำไรของ OAI เข้ามาในไตรมาส 4/60

“การเข้าซื้อกิจการเพื่อขยายธุรกิจ Freight Forwarder ในครั้งนี้ ถือ Strategic Move และเป็นจิ๊กซอว์สำคัญสู่การเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจรทุกโหมดการขนส่ง ไม่ว่าการขนส่งจะมาทางอากาศ หรือ ทางทะเล สามารถรองรับลูกค้าได้ทุกทาง ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางโดยคำนึงถึงความง่ายและสะดวกสบายของลูกค้าเป็นที่ตั้ง  โดยเราเชื่อว่าการที่ JWD เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภาคพื้นดินและคลังสินค้ามาก่อน ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความซับซ้อนและต้องการความเชี่ยวชาญและความชำนาญเป็นพิเศษ จะเป็นแต้มต่อช่วยเรื่องการขยายฐานลูกค้าและการส่งมอบบริการอย่างไร้รอยต่อ” นายชวนินทร์ กล่าว

สำหรับการเติบโตของบริษัทในปี 61 จะมาจากการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยมีดีลการซื้อกิจการที่ใกล้เห็นความชัดเจน 2 ดีล มูลค่าลงทุนกว่า 400 ล้านบาท ได้แก่ การเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ ซึ่งภายในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ บริษัทคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนของการเข้าซื้อกิจการห้องเย็นในอินโดนีเซีย ซึ่งจะเข้ามาเสริมเครือข่ายการให้บริการของบริษัทและขยายฐานลูกค้าในปีหน้าได้เต็มปี และภายในไตรมาส 1/61 จะได้เห็นความชัดเจนการซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับ Freight Forwarder ในประเทศเวียดนาม ที่จะเข้ามาเสริมสร้างการขยายงาน Freight Forwarder ในปี 61 และทำให้การเติบโตของของรายได้สามารถฟื้นกลับขึ้นมาเติบโตในระดับตัวเลขสองหลัก

ขณะเดียวกันบริษัทคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นในปี 61 จะกลับมาสู่ระดับปกติที่ 34-35% จากปีนี้ที่คาดว่าอยู่ที่ 31-32% จากศักยภาพของการบริการงานด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นหลังมีกิจการใหม่ๆ ที่เข้ามาต่อยอด อัตราการใช้ห้องเย็นและคลังสินค้าที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 80% การบริหารงานด้านการขนส่งที่ดีขึ้น และการควบคุมต้นทุนการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ปัจจุบันต้นทุนลดลงจาก 20% เป็น 17.8% สนับสนุนให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นมาในครึ่งปีแรกเป็น 30% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังและปีถัดไป

นอกจากนี้บริษัทยังตั้งเป้าหมายในปี 63 ที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค (Reginal Player) โดยจะเน้นการขยายเครือข่ายโลจิสติกส์ไปในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศปี 63 เพิ่มเป็น 25% จากสิ้นปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 12-15% และสัดส่วนรายได้ในประเทศจะอยู่ที่ 75% ในปี 63 จากสิ้นปีนี้อยู่ที่ 85-88% ซึ่งกลยุทธ์การก้าวเข้าสู่การเป็น Reginal Player ของบริษัทจะเน้นการขยายเครือข่ายและฐานลูกค้าในลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นหลัก ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีการส่งออกและการติดต่อค้าขายระหว่างประเทศที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนในลาว กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศปัจจุบันอยู่ที่ 10% และจะขยายการลงทุนเข้าไปในอินโดนีเซียและเวียดนามในลำดับถัดไป พร้อมกับการเดินหน้าซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในปี 61 บริษัทคาดว่าจะมีดีลการซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ทั้งในและต่างประเทศคาดว่าจะเห็นความชัดเจนราว 2-3 ดีล มูลค่าการลงทุนมากกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งไม่รวมดีลในอินโดนีเซียและเวียดนาม โดย 1 ใน 2-3 ดีล ที่คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปี 61 เป็นดีลเกี่ยวข้องกับการขนส่งน้ำมันและก๊าซฯ ที่มีมูลค่าลงทุนสูงระดับ 1 พันล้านบาท ที่จะเข้ามาเป็นการขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ให้กับบริษัท จากปัจจุบันที่ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในกลุ่มที่ใช้ห้องเย็น กลุ่มเคมีภัณฑ์ และกลุ่มยานยนต์

อีกทั้งจะเน้นการขยายงานด้าน Freight Forwarder ให้ครอบคลุมและเข้าถึงการบริการในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น เพราะธุรกิจ Freight Forwarder ในปัจจุบันมีการเติบโตที่สูงมาก จากการติดต่อค้าขายระหว่างประเทศที่มีต่อเนื่อง ทำให้บริษัทเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนางานด้าน Freight Forwarder เพื่อเป็นทางเลือกการให้บริการให้กับลูกค้า และตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากงานด้าน Freight Forwarder จะเพิ่มเป็น 20-25% ในปี 63 จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 9% ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจห้องเย็น 70% และส่วนที่เหลือเป็นสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจขนส่งและอื่นๆ

“กลยุทธ์ของบริษัทเพื่อเสริมศักยภาพและความแข็งแกร่ง คือ เราต้องเปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้นำเสนอและขาย Solution ให้กับลูกค้า โดยมีหลาย ๆ ทางเลือกให้ลูกค้าได้ใช้บริการ ซึ่งเป็นการบริการด้านโลจิสติกส์ที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งดีกว่าการที่เป็นผู้ขาย Service ให้กับลูกค้าอย่างเดียว ซึ่งการขาย Service ให้ลูกค้าอย่างเดียวนั้นจะทำให้เราเติบโตต่อไปได้ยาก และไม่ได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะธุรกิจโลจิสติกส์มีการแข่งขันกันสูงในตลาด และมีผู้เล่นรายใหญ่ที่มีความสามารถในหลาย ๆ ด้านอยู่ การที่เราจะก้าวไปสู่เป้าหมายเป็น Reginal Player ในปี 2020 ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนตัวเราเองเพื่อสอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม”นายชวนินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ การลงทุนต่างๆ ของบริษัทมีเงินทุนที่รองรับการลงทุนที่เพียงพอ โดยมีวงเงินออกหุ้นกู้เหลืออยู่ 2.5 พันล้านบาท จากทั้งหมด 3 พันล้านบาท และความสามารถในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินที่มีเพดานกู้ได้สูงถึง 2-3 พันล้านบาท เพราะมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ในระดับต่ำที่ 1 เท่า รวมถึงเงินที่จะได้จากการขายสินทรัพย์ที่เป็นห้องเย็นและคลังจัดเก็บเอกสารเข้ากองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) มูลค่ากอง 1.5 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดว่าจะจัดตั้งกอง REIT และขายสินทรัพย์เข้ากองได้ภายในไตรมาส 4/60 หรือไตรมาส 1/61 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีเงินเพียงพอรองรับต่อการลงทุนในอนาคตราว 5-6 พันล้านบาท

 

Back to top button