SUPER จ่อฟันรายได้เพิ่ม670ลบ./ปี หลังเดินเครื่องโรงไฟฟ้าขยะสระแก้ว-โซลาร์ฯเทียนจินเต็มปี
SUPER จ่อรับทรัพย์เพิ่ม670ลบ./ปี หลังบุ๊ครายได้โรงไฟฟ้าขยะสระแก้ว 400 ลบ./ปี-โซลาร์ฟาร์มเทียนจิน 270 ลบ./ปี
สืบเนื่องจาก บริษัท กรีน พาวเวอร์ เอ็นเนอร์จี จำกัด (GREEN POWER) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER ได้รับวงเงินสินเชื่อ (Project Financing) จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เป็นจำนวน 945 ล้านบาท เพื่อรองรับการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะอุตสาหกรรม จังหวัดสระแก้ว ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งสูงสุด 9.9 เมกะวัตต์ (MW)
ล่าสุด นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ SUPER เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ” ทาง FM 98.5 MHz สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.60 ช่วงเวลา 9.30-11.00 น. ว่า บริษัทจะนำเงินที่ได้รับการการทำโปรเจกต์ไฟแนนซ์กว่า 900 ล้านบาท แบ่งไปใช้คืนเงินที่นำไปลงทุนก่อนหน้านี้กว่า 400 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะนำไปลงทุนก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จ
โดยปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะอุตสาหกรรม จังหวัดสระแก้ว ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งสูงสุด 9.9 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 80% และคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการขายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือนธ.ค.60 พร้อมตั้งเป้ารายได้กว่า 400 ล้านบาท/ปี เฉลี่ยรายได้ราว 52 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ต่อปีจากการจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีกำไรกว่า 100 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-35%
ทั้งนี้ที่ตั้งของโครงการดังกล่าวอยู่ในพื้นที่จ.สระแก้ว ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก โดยร่วมกับผู้ประกบการที่มีใบอนุญาตในการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรม และดำเนินการดูแลขยะอุตสาหกรรมโดยตรง ที่สามารถเดินทางเข้ามาส่งวัตถุดิบให้ในโรงไฟฟ้าโดยไม่มีปัญหา จึงส่งผลให้บริษัทสามารถสรรหาวัตถุดิบได้โดยง่าย
ด้านโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ที่เมืองเทียนจิน ประเทศจีน ขนาดกำลังการผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.60 ประมาณ 9 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ต่อปี หรือประมาณ 270 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม ที่เมืองเทียนจิน บริษัทได้ถือหุ้นผ่านบริษัทลูกที่ฮ่องกงในสัดส่วน 100% เป็นทรัพย์สินที่ทำรายได้ทันที เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว แม้จะได้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนน้อยประมาณ 10% เพราะมีความเสี่ยงน้อย ขณะที่โรงไฟฟ้าที่บริษัทสร้างเองจะมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 14-15%
นอกจากนี้บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้จากการขายไฟฟ้าในปี 60 อยู่ที่ประมาณ 6.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ประมาณ 3.8 พันล้านบาท จากปัจจุบันที่มีการ COD แล้ว 735 เมกะวัตต์ จากที่มีใบอนุญาตขายไฟฟ้า (PPA) ในมือประมาณ 809 เมกะวัตต์
ขณะที่ความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์) ปัจจุบันธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ของบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาในการปรับเงื่อนไขกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ทั้งนี้คาดว่าจะดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟล์ลิ่ง) ได้ราวต้นปีหน้าจากเดิมวางแผนยื่นไฟล์ลิ่งภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นยังคงนำสินทรัพย์ซึ่งเป็นโครงการโซลาร์ฟาร์ม ขนาดกำลังการผลิตรวม 118 เมกะวัตต์ เข้ากองทุนฯ คิดเป็นมูลค่ากองทุนฯ ประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาทตามแผนที่วางไว้