
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 12 พ.ค.58
– ช่วงเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 119.90/92 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 120.15 เยน/ดอลลาร์
– ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1268/70 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1146 ดอลลาร์/ยูโร
– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,485.72 จุด ลดลง 15.58 จุด หรือ 1.04% มูลค่าการซื้อขาย 36,252.33 ล้านบาท
– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,168.26 ล้านบาท (SET+MAI)
– ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้ให้ความเห็นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อกรณีความกังวลเกี่ยวกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องว่า ขอให้พิจารณาจากตัวเลขการใช้จ่ายที่แท้จริงของประชาชน โดยดูจากตัวเลขการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ซึ่งจะมีความชัดเจนมากกว่า ซึ่งจะเห็นได้ว่ายอดเก็บภาษี VAT เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี
โดยในเดือน ม.ค.58 มีการจัดเก็บภาษี VAT ได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.7% ส่วนเดือน ก.พ.58 เพิ่มขึ้น 1.6%, เดือน มี.ค.58 เพิ่มขึ้น 19.3% และเดือน เม.ย.58 เพิ่มขึ้น 11.4% ทำให้เฉลี่ยแล้วในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี VAT เพิ่มขึ้น 10.2%
– รมว.คลังกรีซ เปิดเผยว่า กรีซอาจเผชิญวิกฤตสภาพคล่องในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ โดยระบุว่าสถานการณ์ทางการเงินของกรีซเป็นประเด็นที่มีความเร่งด่วนอย่างมาก การแสดงความคิดเห็นดังกล่าว มีขึ้นหลังจากการประชุมระหว่างกรีซและรัฐมนตรีคลังยูโรโซน ในการหารือประเด็นเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อช่วยคลี่คลายวิฤตหนี้ของกรีซนั้น แทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ากรีซได้เริ่มกระบวนการโอนเงิน 750 ล้านยูโร หรือราว 830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อชำระคืนหนี้สินแก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แล้ว ซึ่งถือเป็นการชำระคืนก่อนกำหนดเส้นตายในวันนี้ เป็นเวลา 1 วัน
– กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยรายงานฉบับล่าสุดเกี่ยวกับภูมิภาคยุโรปกลาง, ตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ โดยเรียกร้องให้กลุ่มประเทศดังกล่าวดำเนินนโยบายเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินปี 2551 ด้วยการหนุนอุปสงค์ภายในประเทศและลดหนี้สินในภาคเอกชน
– รัฐบาลญี่ปุ่น เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจปรับตัวลงในเดือน มี.ค. โดยดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (index of coincident indicators) เช่น ผลผลิตอุตสาหกรรม การค้าปลีก และการจ้างงานใหม่ปรับตัวลง 1.2 จุด จากเดือนก่อนหน้าสู่ระดับ 109.5 เปรียบเทียบกับฐานปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 100
ส่วนดัชนีนำเศรษฐกิจ (index of leading indicators) ซึ่งคาดการณ์สถานการณ์ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวขึ้น 0.8 จุด อยู่ที่ 105.5 ขณะที่ดัชนีตามเศรษฐกิจ (index of lagging indicators) ซึ่งเป็นมาตรวัดการปรับตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาลดลง 1.2 จุด แตะ 120.3
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์