3 แบงก์ใหญ่ ลงขันปล่อยกู้รถไฟฟ้าสายสีชมพู-สายสีเหลือง 6.34 หมื่นลบ.

3 แบงก์ใหญ่ ลงขันปล่อยกู้รถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี)-สายสีเหลือง(ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) มูลค่ารวม 6.34 หมื่นลบ.


ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ระบุว่า ธนาคารได้ร่วมลงนามในสัญญาเงินกู้ ( Credit Facilities Agreement ) รวมมูลค่า 6.34 หมื่นล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง กับบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด และ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด

โดยสัญญาเงินกู้ (Credit Facilities Agreement ) นี้แบ่งเป็น 2 ฉบับ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี วงเงิน 3.17 หมื่นล้านบาท ระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร รวม 30 สถานี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง วงเงิน 3.17 หมื่นล้านบาท ระยะทางประมาณ 30.4 กิโลเมตร รวม 23 สถานี

สำหรับการลงนามในสัญญาเงินกู้ครั้งนี้จะทำให้โครงการรถไฟฟ้าทั้งสองเส้นทางมีความพร้อมจากการที่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารพาณิชย์ชั้นนำรายใหญ่ 3 ราย โดยบริษัทจะนำไปใช้ในการก่อสร้างสถานี ทางวิ่งยกระดับงานระบบเครื่องกล งานระบบอาณัติสัญญาณ ขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ ซึ่งจะทำให้โครงการสามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้

ด้านนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด และ บริษัทอีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าทั้งสองสายนี้เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว โมโนเรล แบบยกระดับสองสายแรกของประเทศ เป็นโครงการร่วมทุนในลักษณะ PPP Net Cost กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

โดยผู้ร่วมลงทุนประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ซึ่งผู้ถือหุ้นทั้ง 3 บริษัท จะนำความรู้ความชำนาญในสายงานที่ตนมีร่วมกันดำเนินงานโครงการทั้ง 2 เส้นทางให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ และตามกำหนดการที่ได้ตั้งไว้

รวมทั้งในวันนี้การที่บริษัทได้มีผู้สนับสนุนทางการเงินแล้วทำให้โครงการมีความพร้อมในทุกๆด้าน ทั้งผู้รับเหมาก่อสร้างงานโยธา ได้แก่ STEC ผู้รับจ้างจัดหาระบบรถไฟฟ้า รวมถึงขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล ได้แก่ กลุ่มบริษัท บอมบาดิเอร์ทั้งหมดเรียบร้อยแล้วยิ่งทำให้เรามีความมั่นใจว่าจะทำให้โครงการสามารถลงมือก่อสร้างได้ทันทีหลังจากที่ รฟม.ได้ส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทฯ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมจะเปิดให้บริการในปี 63

ขณะที่ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ BBL เปิดเผยว่า ธนาคารเป็นผู้นำในการจัดหาเงินกู้สนับสนุนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายดังกล่าวโดยมีวงเงินสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ในรูปแบบการปล่อยกู้ร่วม (Syndicate Loan) รวมทั้งสิ้น 6.34 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้ BBL มีส่วนการปล่อยสินเชื่อคิดเป็นสัดส่วนประมาณ  33% ของวงเงินกู้รวมในโครงการนี้ หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ  21,120  ล้านบาท โดยจะทยอยเบิกจ่ายตั้งแต่เดือน มิ.ย.60

โครงการนี้นับเป็นโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดีเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในประเทศตลอดจนเป็นปัจจัยตั้งต้นที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนในแต่ละระดับเกิดการจ้างงานและการบริโภคตามมาอันเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจทั้งระบบหมุนเวียนและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง”

ส่วนนายวีระพงศ์ ศุภเศรษฐศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB เปิดเผยว่า ธนาคารมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ร่วมลงทุนของโครงการนี้มาแต่ยาวนาน ทั้ง BTS , STEC และ RATCH สำหรับการสนับสนุนทางการเงินเพื่อลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู  และสายสีเหลือง ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนด้านธุรกิจของกลุ่มผู้ลงทุนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ

ด้าน นายวศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Multi-Corporate Segment และผู้บริหารสูงสุด Corporate Segment ของ SCB เปิดเผยว่า ทั้งสองโครงการถือเป็นโครงการนำร่องตามมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ได้มาตรฐาน สะดวกรวดเร็ว และสามารถเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายหลักอื่น

ประกอบด้วยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว(ส่วนต่อขยาย) (หมอชิต-คูคต), โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-บางไผ่), โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง), โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต), โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) และรถไฟฟ้า Airport Rail Link

อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของการขับเคลื่อนแนวนโยบายการพัฒนาเมืองกระจายสู่พื้นที่รอบนอก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ธนาคารไทยพาณิชย์มีความมุ่งมั่นและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป

Back to top button