DTAC รูดสวนภาวะตลาดฯ วิตกผลพิจารณาสัญญาคลื่น 2300MHz
DTAC รูดสวนภาวะตลาดฯ วิตกผลพิจารณาสัญญาคลื่น 2300MHz โดยปิดตลาดภาคเช้าราคาอยู่ที่ 44 บาท ลดลง 0.75 บาท หรือ 1.68% สูงสุดที่ 46.25 บาท ต่ำสุดที่ 43.50 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 439.88 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC โดยปิดตลาดภาคเช้าราคาอยู่ที่ 44 บาท ลดลง 0.75 บาท หรือ 1.68% สูงสุดที่ 46.25 บาท ต่ำสุดที่ 43.50 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 439.88 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยโดยรวมบวก 0.59%
โดยคาดว่าราคาหุ้น DTAC ที่ปรับตัวลงในวันนี้สวนทางดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปิดภาคเช้าบวกกว่า 10 จุด มาจากประเด็นที่นักลงทุนเกิดความกังวลว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเห็นชอบกับร่างสัญญาที่เคยอนุมัติให้ TOT ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz จำนวน 60 MHz เพื่อนำไปใช้งานแบบ Broadband Wireless Access หรือไม่
ทั้งนี้ หาก กสทช.มีมติเห็นชอบร่างสัญญาดังกล่าว โดยอนุมัติสัญญาคู่ค้าระหว่าง TOT กับ DTAC จะเป็นผลดีต่อ DTAC ในแง่ของการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทมีความมั่นคงในระยะยาว ขณะเดียวกันจะเป็นการช่วยเพิ่มความสามารถในการหาลูกค้าใหม่ได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน DTAC มีคลื่นความถี่ 850 MHz จำนวน 10 MHz/1800 MHz จำนวน 50 MHz/ และ 2100 MHz จำนวน 15 MHz ไว้สำหรับการให้บริการอยู่แล้ว
ดังนั้น การได้มาซึ่งคลื่นความถี่ 2300 MHz จาก TOT จึงถือเป็นความจำเป็นของ DTAC สำหรับการทดแทนคลื่นความถี่ที่กำลังจะหมดอายุสัญญาลง
โดย DTAC ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับ TOT เป็นจำนวน 4.51 พันล้านบาทต่อปีเป็นระยะเวลา 8 ปี หรือคิดเป็นเม็ดเงินรวมราว 3.61 หมื่นล้านบาท และยังต้องใช้งบประมาณในการลงทุนอีกจำนวนมากสำหรับการขยายโครงข่ายบนคลื่น 2300 MHz ซึ่งเบื้องต้นมีการประเมินว่า DTAC ต้องขยายเสาสัญญาทั้งหมดกว่า 2 หมื่นต้น เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการแก่ประชาชนได้ถึง 80% ตามสัญญาคู่ค้า อาจเป็นปัจจัยกดดันต่อผลการดำเนินงานตั้งแต่ช่วงปี 2561 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี สัมปทานคลื่นความถี่ 850 MHz และ 1800 MHz ที่บริษัทได้รับจากบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กำลังจะสิ้นสุดสัญญาลงในปี 2561 ซึ่งหมายถึงภายหลังการหมดสัญญา DTAC จะเหลือเพียงคลื่นความถี่ 2100 MHzจำนวน 15 MHz ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในปี 2570 ไว้สำหรับการให้บริการเท่านั้น
ในทางตรงกันข้าม หาก กสทช.มีมติไม่เห็นชอบต่อร่างสัญญาดังกล่าว หรือหากว่ายังไม่สามารถให้ข้อสรุปต่อการพิจารณาได้นั้น อาจส่งผลเสียต่อ DTAC เป็นอย่างมาก โดยแผนการดำเนินงานต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น หรือต้องล่าช้าออกไป ซึ่งภายหลังที่คลื่นความถี่ส่วนใหญ่ที่ใช้ในการให้บริการในปัจจุบันหมดอายุลง บริษัทจะประสบปัญหาคลื่นความถี่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานของลูกค้า และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผลการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต