กสทช.ชี้สัญญา TOT-DTAC ขาดข้อมูลสำคัญ จี้ส่งแผนใช้คลื่น 2300MHz เพิ่มต้นเดือนหน้า

กสทช.ชี้สัญญา TOT-DTAC ขาดข้อมูลสำคัญ จี้ส่งแผนใช้คลื่น 2300MHz เพิ่มต้นเดือนหน้า ก่อนนำเข้าบอร์ดกสทช.เพื่อพิจารณา


สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 22 พ.ย.60 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาร่างสัญญาคู่ค้าระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT กับบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และบริษัท เทเล แอสเสท จำกัด ซึ่งทั้งสองเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท โทเทิ่ล แอ๊คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ในการเป็นคู่ค้าให้บริการไร้สายบนโครงข่ายคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)

โดยในการประชุมดังกล่าวได้สรุปอนุกรรมการกลั่นกรองฯ เรียกผู้บริหารของทีโอที เข้ามาชี้แจงวานนี้ (27 พ.ย.) ในประเด็นร่างสัญญาการอัพเกรดคลื่นความถี่ในย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์สำหรับเปิดให้บริการ 4จี แอลทีอี-ทีดีดี จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ ที่ทีโอที และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ก่อนที่จะมีการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ดำเนินการได้หรือไม่

ล่าสุด พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคม เปิดเผยว่า จากการเรียกผู้บริหารของทีโอที เข้ามาชี้แจงพบว่าทีโอทียังขาดข้อมูลด้านเทคนิคในเรื่องการใช้คลื่นความถี่ ซึ่งหากจะให้บริการด้วยการโรมมิ่งก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และเป็นตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) อนุญาตไปก่อนหน้านี้

ดังนั้น จึงได้กำชับให้ทีโอทีประสานกับสำนักงานกสทช.ส่งข้อมูลการใช้งานความถี่ให้ทันภายในต้นเดือนธ.ค. จากนั้นช่วงกลางเดือนธ.ค.จะต้องสรุปความเห็นจากอนุกรรมการกลั่นกรองฯก่อนนำเข้าบอร์ดกสทช.

เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเองก็ยังไม่สรุปความเห็นมาเลยว่าทีโอทีและดีแทคสามารถดำเนินการได้หรือไม่ แต่เราก็ต้องพิจารณาไปในส่วนความรับผิดชอบของเราไปก่อน ซึ่งหากลงมติผ่านทุกอย่าง ทางทีโอทีและดีแทคระบุว่าคงให้บริการได้ในเดือนม.ค.ปี 2561″ พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าว

ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช.ได้สรุปจากอนุกรรมการกลั่นกรองฯในชั้นต้น ระบุว่ามีการใช้คลื่นความถี่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการอนุญาตไปก่อนหน้านี้ จึงให้ทีโอทีและดีแทค ไตรเน็ต ไปปรับเปลี่ยนแผนการพัฒนาคลื่นให้ตรงกับกฎหมายที่กสทช.กำหนดไว้ก่อน จากนั้นนำเข้าจะพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าทีโอทีและดีแทค ไตรเน็ตจะไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ทันในปีนี้ตามแผนงานเดิม

อย่างไรก็ดี จากการสอบถาม นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที ยืนยันว่า ทีโอทีได้ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม และได้ส่งสัญญาดังกล่าวที่จะเซ็นร่วมกับดีแทค ไตรเน็ต ให้ กสทช.พิจารณาไปตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.60 แต่หากการเซ็นสัญญาล่าช้าออกไปอาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายรายได้ของทีโอทีในปีนี้และต่อเนื่องไปถึงปี 61 โดยทีโอทีคาดว่าจะมีรายได้ปีละ 4,510 ล้านบาทจากการให้ดีแทคเข้าพัฒนาคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์

Back to top button